โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

   ภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยโรคมะเร็งส่งผลเสียอย่างไร

                ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งมักพบว่ามีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยร้อยละ20-70 โดยเฉพาะในมะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ
มะเร็งตับ และ มะเร็งปอด จากข้อมูลทางสถิติพบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ
30-60 เท่านั้นที่ได้รับการดูแลด้านโภชนบำบัด

      ภาวะทุพโภชนาการส่งผลเสียหลายประการต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังตารางที่  1

ตารางที่ 1 ผลเสียที่ของภาวะทุพโภชนาการต่อการรักษาโรคมะเร็ง 1–3

1.      เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตประมาณ
4 เท่า

2.      เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดประมาณ
2 เท่า

3.      เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดประมาณ
13 เท่า  *ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถรับการรักษาได้จนครบวงรอบ  ทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

4.      มีคุณภาพชีวิตโดยรวมลดลง

         การวินิจฉัยภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถใช้ลักษณะทางคลินิกได้ดังนี้
ผู้ป่วยมะเร็งที่มีน้ำหนักตัวลดอย่างน้อยร้อยละ
5 หรือ ผู้ป่วยมะเร็งที่มีน้ำหนักตัวลดอย่างน้อยร้อยละ 2 ร่วมกับมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 20 กก./ตร.. หรือ        ผู้ป่วยมะเร็งที่มีน้ำหนักตัวลดอย่างน้อยร้อยละ 2 ร่วมกับมีมวลกล้ามเนื้อน้อย  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการประเมินภาวะทางโภชนาการเพื่อให้โภชนบำบัดอย่างเหมาะสมต่อไป1,2

การให้โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

       วัตถุประสงค์หลักของการให้โภชนบำบัดคือ รักษาน้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อของผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหยุดหรือเลื่อนการรักษา รวมถึงรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับพลังงานจากอาหารอย่างน้อย30 กิโลแคลลอรี่ ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน และปริมาณโปรตีนอย่างน้อย 1-1.2 กรัม
ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน เช่น ผู้ป่วยหนัก
40 กก. ควรได้รับพลังงานจากอาหารอย่างน้อย 1200 กิโลแคลลอรี่ และปริมาณโปรตีนอย่างน้อย 40-48 กรัมต่อวัน โดยพลังงานสามารถปรับเพิ่มได้เพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณโปรตีนสามารถเพิ่มได้ถึง 2 กรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมต่อวัน  ตามความเหมาะสม
               
        ผลจากเซลล์มะเร็งมักทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเบื่ออาหารและอิ่มเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยทั่วไปจะแนะนำให้รับประทานอาหารทีละน้อยๆและเพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น (เช่น
6-8 มื้อต่อวัน) หรือให้รับประทานทุกๆ 1-2 ชม. โดยไม่ขึ้นกับความหิว ให้เลือกอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูง รวมถึงเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีพลังงาน ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาในการเลือกรับประทานอาหาร หรือการต้องรับประทานอาหารบ่อยๆ การใช้อาหารทางการแพทย์ที่มีความเข้มข้นของพลังงานและโปรตีนสูง2 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอได้ อาหารทางการแพทย์ที่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยว่ามีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น ส่วนมากคืออาหารทางการแพทย์สูตรเสริมภูมิคุ้มกัน โดยอาหารทางการแพทย์สูตรดังกล่าวจะมีปริมาณโปรตีนสูง และมีการเติมสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่น อาร์จินีน กลูตามีน  กรดไขมันโอเมก้า 3 หรือ นิวคลีโอไทด์

         สมาคมโภชนาการคลินิกและเมตาบอลิสมแห่งสหภาพยุโรป1,2 ให้คำแนะนำว่า สามารถพิจารณาให้อาหารทางกาแพทย์สูตรเสริมภูมิคุ้มกันควบคู่กันไปได้กับ      การรักษาหลัก เพราะข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า การเสริมโภชนาการด้วยอาหารทางการแพทย์สูตรเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคมะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้นก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 5-7 วัน และอาจสามารถให้ต่อหลังการผ่าตัดได้อีก 5 วันสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ถึงร้อยละ 36 ลดการเกิดภาวะลำไส้รั่วจากการตัดต่อลำไส้ได้ร้อยละ 30 และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลได้ 2 วันโดยประมาณ ส่วนในกรณีที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสงนั้น อาหารทางการแพทย์สูตรเสริมภูมิคุ้มกันสามารถเพิ่มน้ำหนักตัว ลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโดยเฉพาะการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 30 และรวมถึงลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้อีกด้วย5–7 ตัวอย่างอาหารทางการแพทย์ที่ใช้ในการศึกษา เช่น อาหารทางการแพทย์ที่มีส่วนประกอบของทั้ง อาร์จินีน กลูตามีน และ กรดไขมันโอเมก้า 3

                จากประโยชน์ดังกล่าว อาหารทางการแพทย์สูตรเสริมภูมิคุ้มกันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยรักษาภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความพร้อมในการเข้ารับการรักษาต่อไป


แหล่งอ้างอิง :

1 . Arends J, Bachmann P, Baracos V, Barthelemy N, Bertz H, Bozzetti F, et al. ESPEN guidelines on nutrition in cancer patients. Clinical Nutrition. 2017 Feb 1;36(1):11–48.

2. Muscaritoli M, Arends J, Bachmann P, Baracos V, Barthelemy N, Bertz H, et al. ESPEN practical guideline: Clinical Nutrition in cancer. Clinical Nutrition. 2021 May 1;40(5):2898–913.

3.  Barret M, Antoun S, Dalban C, Malka D, Mansourbakht T, Zaanan A, et al. Sarcopenia Is Linked to Treatment Toxicity in Patients With Metastatic Colorectal Cancer. Nutrition and Cancer. 2014 May 19;66(4):583–9.

4. Brown B, Roehl K, Betz M. Enteral Nutrition Formula Selection. Nutrition in Clinical Practice. 2015 Feb 1;30(1):72–85.

5.   Yu K, Zheng X, Wang G, Liu M, Li Y, Yu P, et al. Immunonutrition vs Standard Nutrition for Cancer Patients: A Systematic Review and Meta-Analysis (Part 1). Journal of Parenteral and Enteral Nutrition [Internet]. 2019 Nov 11 [cited 2020 Jan 1];n/a(n/a). Available from: https://doi.org/10.1002/jpen.1736

6.  Marimuthu K, Varadhan KK, Ljungqvist O, Lobo DN. A Meta-Analysis of the Effect of Combinations of Immune Modulating Nutrients on Outcome in Patients Undergoing Major Open Gastrointestinal Surgery. Annals of Surgery [Internet]. 2012;255(6). Available from: https://journals.lww.com/annalsofsurgery/fulltext/2012/06000/a_meta_analysis_of_the_effect_of_combinations_of.9.aspx

7.  Sunpaweravong S, Puttawibul P, Ruangsin S, Laohawiriyakamol S, Sunpaweravong P, Sangthawan D, et al. Randomized Study of Antiinflammatory and Immune-Modulatory Effects of Enteral Immunonutrition During Concurrent Chemoradiotherapy for Esophageal Cancer. Nutrition and Cancer. 2014 Jan 1;66(1):1–5.

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *