ทำความรู้จัก ภาวะกล้ามเนื้อพร่องคืออะไร

ทำความรู้จัก ภาวะกล้ามเนื้อพร่องคืออะไร

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นและก้าวเข้าสู่ช่วงสูงวัย สิ่งที่ตามมาคือเรื่องความสามารถทางกายภาพที่อาจลดลงและปัญหาทางสุขภาพที่มีมากขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง และภาวะที่กล่าวมานี้ โดยในบทความนี้นั้นเราจะมาพูดถึงปัจจัยและสาเหตุในการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อพร่อง กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยง รวมไปถึงแนวทางในการป้องกันที่จะเกิดภาวะดังกล่าว

ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia) คืออะไร?

ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง หรือ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือ ภาวะที่มวลกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถภาพทางกายที่ลดลง เช่น เคลื่อนไหวได้น้อยลง ที่เสี่ยงต่อการหกล้มที่บ่อยขึ้น
ภาวะนี้มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลักจากหลายปัจจัย เช่น

  • การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกาย

  • การเสื่อมของเซลล์กล้ามเนื้อตามอายุ

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม

นอกจากนี้ ยังมี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน และการใช้ชีวิตที่ขาดกิจกรรมการขยับร่างกาย หรือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน

กลุ่มเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะมวลกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia)

ภาวะกล้ามเนื้อพร่องพบได้มากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
    ตั้งแต่อายุประมาณ 50 ปี ร่างกายจะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ และการสูญเสียนี้จะเกิดขึ้นเร็วและเด่นชัดใน ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

  • ผู้ที่มีออกกำลังกายน้อย
    ผู้ที่ใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ค่อยขยับตัว หรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ที่เคยหกล้มบ่อยหรือมีภาวะทุพโภชนาการ
    การหกล้มซ้ำบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง นอกจากนี้ ผู้ที่เคยมีภาวะขาดสารอาหารหรือได้รับโภชนาการไม่เพียงพอ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อพร่องได้ง่ายขึ้น

  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีภาวะแทรกซ้อน
    เช่น โรคไตเรื้อรัง หรือ โรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย 

หากปล่อยให้ภาวะกล้ามเนื้อพร่องโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากขึ้น เช่น ลุกจากเก้าอี้ เดินขึ้นบันได หรือถือของหนัก

  • เดินช้าลง และเสียการทรงตัว การทรงตัวที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดการสะดุดหรือเสียหลักได้ง่าย
  • เสี่ยงต่อการหกล้ม ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่กระดูกเปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งอาจนำไปสู่การผ่าตัดและระยะพักฟื้นที่ยาวนาน

วิธีป้องกันภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia)

การป้องกันภาวะกล้ามเนื้อพร่องสามารถทำได้หลายวิธี โดยเน้นการเสริมสร้างและรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้:

  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ

โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ โดยแนะนำให้บริโภคโปรตีนในปริมาณประมาณ 1 – 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับคนทั่วไป เช่น ถ้าน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนประมาณ 60–72 กรัมต่อวัน
แหล่งโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม โยเกิร์ต
สำหรับผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อกำหนดปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล

  • ขยับร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เช่น การเดิน เล่นโยคะ หรือออกกำลังกายฝึกแรงต้าน (resistance training) ช่วยกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันการเสื่อมของมวลกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การตรวจเช็กสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตรวจระดับสารอาหาร ตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อ หรือประเมินความเสี่ยงต่อภาวะพร่องทางโภชนาการ จะช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสม

สรุป

ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเริ่มมีความเสี่ยงตั้งแต่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปและจะเด่นชัดเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง และสมรรถภาพทางกายตามวัยที่ลดลง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อย หรือการรับประทานอาหารที่ขาดโปรตีน

หากปล่อยไว้โดยไม่ดูแลและปรับพฤติกรรม อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แรงน้อยลง เดินช้าลง สูญเสียการทรงตัว และเสี่ยงต่อการหกล้มหรือกระดูกหักได้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การผ่าตัดและการพักฟื้นที่ยาวนานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะกล้ามเนื้อพร่องสามารถป้องกันและชะลอได้ด้วยการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

แหล่งอ้างอิง

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1201
https://www.bangkokhospital.com/…/muscle-wasting-in-the…
https://www.masterseniorhome.com/th/articles/16121-ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง
https://healthyelderly.md.chula.ac.th/…/sarcopenia…/

ผลิตภัณฑ์ไทยโอซูก้ามีหลากหลายสูตรตามภาวะโภชนาการที่เปลี่ยนไป เลือกให้เหมาะตามความต้องการ อยากรู้จักคลิกเลย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Thai Otsuka Nutrition Club
LINE OA : @thaiotsuka
Instagram : @thaiostuka

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *