เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้รับการบำบัดทดแทนไตไม่ว่าจะเป็นวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง อาหารสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับโปรตีนที่สูงขึ้น ได้รับพลังงานที่เพียงพอ ในขณะที่ต้องจำกัดเกลือแร่ และ/หรือน้ำในผู้ป่วยบางราย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง “โรคไตกินอะไรดี”) ทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอหรือเรียกว่าภาวะการขาดโปรตีนพลังงาน (Protein energy wasting) ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่แย่ลง มีปัญหาทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียชีวิต
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการขาดโปรตีนและพลังงานได้แก่ การขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ความหลากหลายของอาหารลดลง ปริมาณอาหารที่ต้องรับประทานมากขึ้น ปัญหาในการเข้าถึงของอาหาร (เช่นหาซื้ออาหารที่เหมาะสมไม่ได้) ไม่มีเวลาในการประกอบอาหาร มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร ร่างกายมีความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นเช่น มีแผล ติดเชื้อ หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการให้อาหารเสริมทางปากหรือรับประทานทางปากโดยใช้อาหารทางการแพทย์
อาหารทางการแพทย์คืออะไร?
อาหารทางการแพทย์หรืออาหารสำเร็จรูปทางการแพทย์ (Medical formula) มีทั้งรูปแบบผงและน้ำ แบ่งประเภทตามความครบถ้วนของสารอาหารได้แก่
-อาหารครบถ้วน (Complete diet) หรือมีสารอาหารจากอาหารทั้ง 5 หมู่ครบถ้วน
-อาหารเฉพาะโรค (Disease specific diet) หรือมีสารอาหารจากอาหารทั้ง 5 หมู่ครบถ้วน แต่จำกัดหรือเพิ่มสารอาหารให้เหมาะสมกับโรค เช่น อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะล้างไตจะมีสารอาหารที่เหมาะสมคือ โปรตีนสูงขึ้น ควบคุมปริมาณเกลือแร่ โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส
อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะล้างไตเหมาะกับใคร?
เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง เนื่องจากมีโปรตีน พลังงานและเกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสม
เมื่อไรที่ควรรับประทานอาหารทางการแพทย์?
– นักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการทำการประเมินภาวะโภชนาการ หากพบว่ามีภาวะการขาดโปรตีนพลังงาน จะให้อาหารทางการแพทย์ดื่มเสริม
– ไม่มีเวลาเตรียมอาหาร เช่น ในมื้อเช้าไม่มีเวลาในการเตรียมอาหาร ก็สามารถดื่มอาหารทางการแพทย์ทดแทนมื้ออาหารได้
– ดื่มเสริมมื้ออาหารในกรณีที่รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ
***ปริมาณอาหารทางการแพทย์ที่ดื่มเสริมควรปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการ
รับประทานไข่ขาวเสริมอย่างเดียวได้หรือไม่?
ไข่ขาวประกอบด้วยน้ำร้อยละ88 โปรตีนร้อยละ10 ส่วนที่เหลือร้อยละ2เป็นไขมันและเกลือแร่ จะเห็นว่าสารอาหารหลักในไข่ขาวคือ โปรตีน ซึ่งมีหน้าที่หลักคือซ่อมแซมเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและสาระสำคัญๆต่างๆในร่างกาย กรณีที่ผู้ป่วยขาดทั้งโปรตีนและพลังงานแล้วรับประทานไข่ขาวเสริมเพียงอย่างเดียว ร่างกายจะดึงเอาโปรตีนจากไข่ขาวไปเผาผลาญเป็นพลังงาน กล่าวโดยสรุปคือ หากผู้ป่วยขาดทั้งโปรตีนและพลังงานควรรับประทานอาหารที่ให้ทั้งโปรตีนและพลังงานครบถ้วน เช่น อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยระยะล้างไต แต่ถ้าหากผู้ป่วยขาดเฉพาะโปรตีน ก็เสริมอาหารที่ให้โปรตีนเป็นหลัก เช่นไข่ขาว เป็นต้น
ในท้องตลาดมีไข่ขาวผงและไข่ขาวอัดเม็ด ซึ่งก็ผลิตจากไข่ขาว เพียงแค่ดึงส่วนที่เป็นน้ำออกทำให้อยู่ในรูปผงหรือนำมาอัดเป็นเม็ด ส่วนไข่ขาวพาสเจอร์ไรส์เป็นไข่ขาวเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโรค ทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น หากผู้ป่วยขาดเฉพาะโปรตีนจะเลือกรับประทานไข่ขาวในรูปแบบใดก็ได้ เนื่องจากสารอาหารต่างๆ ไม่ได้แตกต่างกัน
เวย์โปรตีนคืออะไร?
เป็นโปรตีนที่สกัดจากน้ำนมวัว มีไขมันและน้ำตาลในนมมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของเวย์ มักทำในรูปผง ละลายในน้ำได้ง่าย ให้สารอาหารหลักคือโปรตีน การเลือกใช้ให้พิจารณาเลือกเช่นเดียวกับไข่ขาว
เอกสารอ้างอิง
1.สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ.2561.
2.ปรียานุช แย้มวงษ์. Enteral Nutrition Formula. ใน: ส่งศรี แก้วถนอม, สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์, วรมินทร์ เหรียญสุวรรณ, และคณะ., บรรณาธิการ. แนวทางการดูแลด้านโภชนศาสตร์คลินิก Practical Points in Clinical Nutrition. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร; 2560.
3.Thai Food Composition Institute of Nutrition Mahidol University.[อินเตอร์เน็ต][เข้าถึงเมื่อ 2566 กรกฎาคม 27]; เข้าถึงได้จาก:URL: https://inmu2.mahidol.ac.th/thaifcd/search_food_by_name_result.php?food_id=1267&rk=
4.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงษ์ นิธิยา รัตนา รัตนาปนนท์. Whey/เวย์.[อินเตอร์เน็ต][เข้าถึงเมื่อ 2566 กรกฎาคม 27]; เข้าถึงได้จาก:URL: https://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0554/whey-%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%8C