สารอาหารเพิ่มภูมิสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

สารอาหารเพิ่มภูมิสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

การทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงในระหว่างการรักษามะเร็งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายของคุณเยียวยาตัวเองและฟื้นตัวได้เร็วขึ้นแล้ว คุณก็จะรู้สึกมีพลังและแข็งแรงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็ยังช่วยให้คุณทนต่อการรักษามะเร็งและผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการรักษาได้ดีขึ้นด้วย มีอาหารหลายอย่างที่คุณสามารถกินได้เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งอาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งด้วย

สารอาหารที่มีบทบาทในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกันที่ซับซ้อนของคนเราต้องการสารอาหารหลายชนิด รวมถึงวิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบี6 วิตามินบี12 สังกะสี และซีลีเนียม ซึ่งมีบทบาทสำคัญและมักเสริมฤทธิ์กันในทุกๆช่วงของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน สารอาหารเหล่านี้ช่วยระบบภูมิคุ้มกันได้หลายวิธี ได้แก่ ทำงานเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อปกป้องเซลล์ที่แข็งแรง ส่งเสริมการเจริญเติบโตและกิจกรรมของเซลล์ภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังช่วยผลิตแอนติบอดี

นอกจากวิตามินแร่ธาตุแล้ว สารอาหารหลักอย่างโปรตีนและกรดอะมิโนก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

  • โปรตีน ได้จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ รวมถึงจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช ถั่วเปลือกแข็ง
  • วิตามินซี พบมากในฝรั่ง กีวี ส้ม สตรอว์เบอร์รี พริกหยวก
  • วิตามินดี พบมากในไข่แดง ปลาทะเล หรืออาหารที่มีการเติมวิตามินดี เช่น น้ำนมถั่วเหลืองที่เสริมวิตามินดี และวิตามินดีได้จากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด อาจโดนแดดอ่อนๆโดยไม่ทาครีมกันแดดบ้าง
  • วิตามินเอ (และเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ) พบในตับ ปลาที่อุดมไปด้วยไขมันดี ไข่ ผักผลไม้สีส้มเหลืองจัด (เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอ)
  • วิตามินอี พบในน้ำมันพืช (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย) และถั่วเปลือกแข็ง (เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เฮเซลนัท เมล็ดมะม่วงหิมพานต์)
  • วิตามินบี 6 พบมากในรำข้าว จมูกข้าวสาลี
  • วิตามินบี 12 ไม่พบในพืช พบเฉพาะในสัตว์ แหล่งที่ดีคือเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์(ตับ ไต) หอยนางรม
  • สังกะสี พบในอาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม จมูกข้าวสาลี
  • ซีลีเนียม พบในถั่วบราซิล อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ โฮลเกรน

กินวิตามินเสริมดีไหม?

ข้อแนะนำการดูแลด้านโภชนาการอาหารผู้ป่วยมะเร็งจาก ESPEN (European Society for Clinical Nutrition and Metabolism) เน้นย้ำว่าการที่ผู้ป่วยมะเร็งจะมีภาวะโภชนาการที่ดีนั้นควรได้จากการรับประทานอาหารที่สมดุล และมีการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเพื่อให้ตรงกับสภาวะและความต้องการของแต่ละบุคคล แนะนำให้ปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อวางแผนอาหารให้เหมาะสมกับคุณในแต่ละช่วงของการรักษา สำหรับบางคนอาจใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเพิ่มสารอาหารบางชนิด แต่โดยทั่วไปแล้ว ESPEN ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณสูงในครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดว่าคุณไม่สามารถรับประทานอาหารและได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ คุณอาจเลือกอาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเพื่อให้ได้รับพลังงานและโปรตีนที่มากพอและเหมาะสมกับสภาวะของคุณ นอกจากนี้ควรมองหาอาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีสารอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยนะ

ผู้เขียน 

นัฏฐิกา สงเอียด

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

แหล่งอ้างอิง :

  1. The relationship between nutrition and the immune system. Front Nutr. 2022 Dec 8;9:1082500.
  2. A Review of Micronutrients and the Immune System–Working in Harmony to Reduce the Risk of Infection. Nutrients. 2020 Jan 16; 12(1): 236.
  3. Immune Function and Micronutrient Requirements Change over the Life Course. Nutrients. 2018 Oct 17;10(10):1531.
  4. ESPEN practical guideline: Clinical Nutrition in cancer. Clin Nutr. 2021 May;40(5):2898-2913.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *