เบาหวานอย่าเบาใจ

เบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รักษาไม่หายแต่จัดการได้ หากคุณเป็นเบาหวานและสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีและคุมได้ตลอด คุณก็สามารถอยู่กับเบาหวานอย่างมีสุขภาพดีได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ เบาหวานก็จะนำพรรคพวกเพื่อนสนิทของมันมาอยู่กับคุณด้วย ซึ่งพรรคพวกที่ว่านี้ก็คือภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานนั่นเอง

ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวาน

  • ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็ก

จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน (Retinopathy) หรืออาจเรียกว่าเบาหวานขึ้นตา: องค์การอนามัยโลกประเมินว่า เบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุของตาบอด 5% ของคนตาบอดทั่วโลก

โรคไตจากเบาหวาน (Nephropathy) หรืออาจเรียกว่าเบาหวานลงไต: ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานมี โปรตีนอัลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะเล็กน้อย ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่เมื่อมีโปรตีนรั่วออกมามากโรคไตระยะสุดท้ายจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Neuropathy): ปลายประสาทเสื่อมก่อให้เกิดแผลที่เท้าและการถูกตัดขา การหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดขึ้นได้มากถึง 50% ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่เกิดเพียง 15-20% เท่านั้นในผู้ชายที่ไม่เป็นเบาหวาน

  • ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดใหญ่

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) : การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายพอๆกับคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายอยู่แล้วแต่ไม่ได้เป็นเบาหวาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาและสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาจึงจัดให้โรคเบาหวานมีความเสี่ยงสูงเทียบเท่าผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าการที่จะบอกว่าเบาหวานเป็นแค่ปัจจัยเสี่ยงตัวหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หากพิจารณาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าผู้ชาย

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease): ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงสูงอย่างมากต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke ซึ่งสูงถึง 150-400% และพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองและการกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น

โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral arterial disease): มีการสำรวจเชิงระบาดวิทยาขนาดใหญ่จำนวนมากแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตันเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตันสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดขาและนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคของหลอดเลือดขนาดเล็กมากที่สุดคือ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง สำหรับโรคของหลอดเลือดขนาดใหญ่นั้นคือ การสูบบุหรี่ ความดันสูง ไขมันสูง และการมีโปรตีนอัลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ดังนั้น คุณควรคุมน้ำตาลในเลือดให้ดีจากการคุมอาหารหรือใช้อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ การจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือชะลอภาวะดังกล่าวไม่ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

คุมคาร์โบไฮเดรต ลดภาวะแทรกซ้อนได้

คาร์โบไฮเดรตมีผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน จากหลักฐานงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าทั้งชนิดและปริมาณของคาร์โบไฮเดรตในอาหารมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและพบว่าการบริโภคใยอาหารมีความสัมพันธ์กับการลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้ป่วยเบาหวานได้ 

ดังนั้น หากคุณเลือกอาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คุณควรมั่นใจว่ามีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมและเป็นชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำก็คือไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงหลังบริโภค นอกจากนี้อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นั้นยังต้องมีใยอาหารละลายน้ำเพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดด้วย 

ผู้เขียน 

นัฏฐิกา สงเอียด

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

แหล่งอ้างอิง :

  • Complication of Diabetes Mellitus: Microvascular and Macrovascular Complications. Int J Diabetes. 2022 May 3;3(1):123-128.
  • Vascular Complications of Diabetes. Circ Res. 2016.
  • Academy of Nutrition and Dietetics Nutrition Practice Guideline for Type 1 and Type 2 Diabetes in Adults: Nutrition Intervention Evidence Reviews and Recommendations. J Acad Nutr Diet. 2017 Oct;117(10):1637-1658.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *