เริ่มไตไม่ดี ต้องดูแลอย่างไร

เริ่มไตไม่ดี ต้องดูแลอย่างไร

อาหาร น้ำ ที่ร่างกายได้รับผ่านทางการกินดื่ม จะอยู่ในรูปของสารอาหารที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์  ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน และน้ำ ไตเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับสารอาหารเหล่านี้ โดยมีหน้าที่ขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีน ควบคุมสมดุลของน้ำ และระดับเกลือแร่ในเลือด คือ โซเดียม โพแทสเซียม และ ฟอสฟอรัสให้เป็นปกติ หากเกิดภาวะที่ไตทำงานได้ลดลง หรือเรียกว่าโรคไตเรื้อรัง ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของหน้าที่ของไตดังกล่าวเช่นกัน

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยจากการทำงานของไตที่ผิดปกติเช่นมีความผิดปกติของเกลือแร่พบโปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ หรือตรวจพบว่าโครงสร้างของไตผิดปกติจากการตรวจเนื้อเยื่อไต ไตมีขนาดเล็ก และ/หรือมีอัตราการกรองของไตที่ลดลง เป็นระยะตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว จะแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังเป็น 5 ระยะ ตามอัตราการกรองของไต โดยคำนวณจากระดับครีอะตินินในเลือด ตามอายุ และเพศ

ดังแสดงในตารางที่ 1

ระยะ

อัตราการกรอง

(ml/min/1.73m2)

 

ความหมาย

 

ข้อสังเกต

 

1

 

> 90

ไตเริ่มถูกทำลายเล็กน้อย

แต่การทำงานของไตยังปกติอยู่

มักไม่แสดงอาการ

2

60-89

ไตทำงานลดลงเล็กน้อย

3a

45-59

ไตทำงานลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง

3b

30-44

ไตทำงานลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง

เริ่มมีของเสียคั่ง 

ระดับเกลือแร่ในเลือดมีความผิดปกติ

4

15-29

ไตทำงานลดลงอย่างมาก

5

<15

ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

5

<15

แพทย์ประเมินแล้วว่าการควบคุมอาหารและการใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยต้องฟอกเลือดล้างไตทางช่องท้อง หรือทำการปลูกถ่ายไต(ไม่มีอัตราการกรองที่ชี้ชัด แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล)

อาหารโรคไตมีลักษณะเป็นอย่างไร?

โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-3a การทำงานของไตยังปกติจนถึงลดลงปานกลาง ระยะนี้ยังไม่พบความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานของไตที่ลดลง ได้แก่ การคั่งของของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีน การมีปัญหาสมดุล ของเกลือแร่และน้ำ ดังนั้น อาหารโรคไตในระยะที่ 1 -3a นี้ ให้รับประทานโปรตีนในระดับปกติ ป้องกันสาเหตุของการเป็นโรคไตเรื้อรังได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยเลือกรูปแบบการรับประทานอาหารที่ดี เช่น 

-การรับประทานอาหารแบบลดหวาน มัน เค็ม 6 1 1 

-กินแบบ 211 ลดพุงลดโรค

-กินอาหารแบบแพลนต์ เบส (Plant based diet)

-กินอาหารแดช (Dash diet)

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะตั้งแต่ 3b ถึง 5  มีอัตราการกรองของไตลดลงเล็กน้อยถึงปานกลางจนถึงมาก หรือน้อยกว่า 45 ml/min/1.73m2  ไตจะเริ่มขับของเสียจากการเผาผลาญโปรตีน และเกลือแร่ได้น้อยลง ดังนั้น รูปแบบอาหารโรคไตสำหรับผู้ป่วยระยะนี้จึงมีการจำกัดโปรตีน และเกลือแร่ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากระดับเกลือแร่ในร่างกายเกินในบทความแรกนี้ขอกล่าวถึงการจำกัดโปรตีนเป็นลำดับแรก

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะนี้ต้องจำกัดโปรตีนแต่ร่างกายก็ยังต้องการโปรตีนในการซ่อมแซมเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ ดังนั้นคำว่าจำกัดโปรตีนจึงอธิบายได้ง่ายๆว่า “ ไม่กินน้อยไปจนขาด ไม่กินมากไปจนเกิน” ที่เรียกว่า “อาหารโปรตีนต่ำ” อยู่ที่ปริมาณโปรตีน 0.6 – 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวอุดมคติต่อวัน  หรือ “อาหารโปรตีนต่ำมาก”ที่ปริมาณโปรตีน 0.3 – 0.4 กรัมต่อน้ำหนักตัวอุดมคติต่อวัน เสริมด้วยกรดอะมิโน โดยนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้คำนวณปริมาณโปรตีนที่ควรรับประทานในหนึ่งวันตามขนาดของร่างกาย 

 

อาหารอะไรบ้างที่มีโปรตีน และรับประทานอย่างไร

ถ้าแบ่งอาหารออกเป็น 5 หมู่ อาหารที่มีโปรตีนมากที่สุดคือ อาหารหมู่เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล ถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น นม ไข่  หลีกเลี่ยงส่วนที่เป็นไขมัน หนัง เนื่องจากมีไขมันอิ่มตัวสูง  เลือกรับประทานปลา ไก่ หมู ไม่ติดหนังติดมัน ส่วนนมวัวโดยมากจะแนะนำให้งดเนื่องจากมีเกลือแร่ทั้งฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูง ซึ่งผู้ป่วยต้องจำกัด ในส่วนของโปรตีนจากพืช เช่นถั่วเหลือง เต้าหู้ รวมถึงถั่วต่างๆ แนะนำให้รับประทานได้แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณโพแทสเซียมที่มีมากในถั่วต่างๆ ส่วนฟอสฟอรัสที่พบมากในถั่ว จะมีสารขัดขวางการดูดซึมฟอสฟอรัสทำให้ร่างกายดูดซึมฟอสฟอรัสจากถั่วต่างๆได้ลดลง นักกำหนดอาหารจะแนะนำปริมาณอาหารกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละท่าน โดยทั่วไปแล้ว อาหารโปรตีนต่ำ หากรับประทานอาหารสามมื้อหลักต่อวัน จะแนะนำให้ทานอาหารในหมวดนี้ มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ โดย เนื้อสัตว์ต่างๆที่สุกแล้ว 1 ช้อนโต๊ะมีน้ำหนัก 15  กรัม หรือเทียบเท่ากับไข่ขาวของไข่ไก่เบอร์ 2 หนึ่งฟอง 

อาหารหมู่ถัดไปที่มีโปรตีนคือ อาหารหมู่ข้าวแป้ง ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวต่างๆ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ ขนมปังแก่ ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารหลัก มีหน้าที่ให้พลังงาน  เมื่อต้องรับประทานอาหารโรคไต แบบโปรตีนต่ำ จึงต้องจำกัดปริมาณอาหารในหมู่นี้ด้วยอยู่ที่มื้อละ 1.5 – 2 ทัพพี เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอจึงแนะนำให้รับประทานแป้งปลอดโปรตีน ได้แก่ อาหารที่ทำจากแป้งถั่วเขียว แป้งมัน เช่น วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้ สาคู ในรูปแบบของกับข้าว ขนม เช่น แกงจืดวุ้นเส้น ยำเซี่ยงไฮ้ ลอดช่องสิงคโปร์ ซาหริ่ม ขนมชั้น สาคูน้ำเชื่อม เป็นต้น ข้อสังเกต แป้งปลอดโปรตีนเมื่อสุกแล้วจะใส ปัจจุบันในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ข้าวโปรตีนต่ำจำหน่ายซึ่งสามารถรับประทานได้เช่นกัน 

อาหารหมู่ผัก ผลไม้ มีโปรตีนเล็กน้อย แนะนำให้รับประทานผัก มื้อละ  1 ทัพพี  ส่วนผลไม้ วันละ 1-2 จานรองแก้วกาแฟ โดยหลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง

อาหารหมู่ไขมันเป็นอาหารที่ปราศจากโปรตีน และให้พลังงาน ดังนั้นอาหารโรคไตจึงควรมีไขมันเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอ เฉลี่ยวันละ 6-10 ช้อนชาขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงาน (หากได้รับพลังงานไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นได้) โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือใช้น้อยๆ เช่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ 

 

เอกสารอ้างอิง

1.Inker LA AB, Fox CH, et al. KDOQI US commentary on the 2012 KDIGO clinical practice guideline for the evaluation and management of CKD. American Journal Kidney Disease. 2014;63(5):713-735.

2.สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ.2561.

3.de Boer, I. H., Caramori, M. L., Chan, J. C., Heerspink, H. J., Hurst, C., Khunti, K., … & Rossing, P. (2020). KDIGO 2020 clinical practice guideline for diabetes management in chronic kidney disease. Kidney international, 98(4), S1-S115.

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *