โรคไต กินอะไรดี

โรคไต กินอะไรดี

เมื่อการควบคุมอาหารร่วมกับการใช้ยาไม่สามารถชะลอความเสื่อมของไตหรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้แล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้การบำบัดทดแทนไตเข้ามาช่วยเป็นวิธีการที่มาทำหน้าที่แทนไตในการดึงของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือดเรียกสั้นๆว่า “การฟอกเลือด” ซึ่งมี 2 วิธี คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้องร่วมกับการใช้ยาและการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง

โรคไตเรื้อรังระยะที่ฟอกเลือดกินอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ฟอกเลือดทั้งด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง ยังต้องการสารอาหารจากอาหารทั้ง 5 หมู่ตามปกติ แต่มีสารอาหารบางอย่างที่ต้องได้รับเพิ่มหรือจำกัดปริมาณ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกับระยะก่อนฟอกเลือดขึ้นอยู่กับวิธีการฟอกเลือดดังแสดงในตาราง



สารอาหาร


โรคไตเรื้อรังระยะก่อนฟอกเลือด 

(3b-5)

ฟอกเลือด


ฟอกเลือดด้วย

เครื่องไตเทียม


ล้างไตทางช่องท้อง

โปรตีน

จำกัดปริมาณ

มีการสูญเสียจึงต้องการเพิ่ม

คาร์โบไฮเดรต

-รับประทานให้เพียงพอ

-น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน 

-โรคเบาหวานควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ

ได้รับน้ำตาลส่วนหนึ่งจากน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลปริมาณมาก

ไขมัน

หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์

โซเดียม

จำกัดปริมาณ

โพแทสเซียม

จำกัดปริมาณเมื่อระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง

ระดับโพแทสเซียมในเลือด

มีโอกาสสูงจึงควรจำกัดปริมาณ

ระดับโพแทสเซียมในเลือดมักต่ำ จึงไม่จำกัดปริมาณประเภทผัก ผลไม้

ฟอสฟอรัส

จำกัดปริมาณ

น้ำ

-ได้รับอย่างเพียงพอ

-จำกัดปริมาณตามสภาวะร่างกายโดยแพทย์เป็นผู้ประเมิน

มักต้องจำกัดปริมาณ

มักต้องจำกัดปริมาณ

โปรตีน 

เมื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้องจะมีการสูญเสียโปรตีนไปส่วนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรได้รับโปรตีนเพิ่ม เปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องจำกัดโปรตีน แนะนำให้รับประทานอาหารหมวดเนื้อสัตว์ 2-3 ช้อนโต๊ะต่ออาหารหนึ่งมื้อหลักวันละสามมื้อ เมื่อฟอกเลือดให้รับประทานอาหารหมวดเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ช้อนโต๊ะต่ออาหารหนึ่งมื้อหลัก โดยใช้หลักการเลือกเหมือนอาหารโรคไตระยะก่อนล้างไต

-ทำไมผู้ที่ฟอกเลือดจึงได้รับคำแนะนำให้รับประทานไข่ขาวเยอะๆ และควรรับประทานไข่ขาววันละกี่ฟอง?

เนื่องจากโปรตีนมีหน้าที่ซ่อมแซมเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ สร้างภูมิคุ้มกัน เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ เม็ดเลือด หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ติดเชื้อง่าย และผู้ป่วยที่ฟอกเลือดมีการสูญเสียโปรตีนจึงต้องรับประทานอาหารหมวดเนื้อสัตว์เพื่อให้ได้รับโปรตีนเพิ่ม ไข่ขาวเป็นอาหารที่มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานเนื่องจากหาได้ง่าย เคี้ยวง่าย มีไขมันต่ำ  

ควรรับประทานไข่ขาววันละกี่ฟอง ใช้หลักว่าเนื้อสัตว์สุก 1 ช้อนโต๊ะ มีโปรตีนเทียบเท่ากับไข่ขาว 1 ฟอง และให้ประเมินจากอาหารหมวดเนื้อสัตว์ที่ควรได้รับในแต่ละวันวันละ 12-15 ช้อนโต๊ะ (4-5 ช้อนโต๊ะต่ออาหารหนึ่งมื้อหลักวันละสามมื้อ) ว่าได้รับขาดเท่าไร ก็ให้เสริมเป็นไข่ขาวแทน

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนหลากหลายตัวอย่างเช่น ไข่ขาวผง ไข่ขาวเม็ด เวย์โปรตีนไอโซเลต เป็นต้น ควรพิจารณาด้านความปลอดภัย มีการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และปริมาณที่รับประทานเพื่อให้ได้รับโปรตีนที่เพียงพอ โดยสามารถปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการได้

คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ผู้ที่ฟอกเลือดควรได้รับให้เพียงพออย่างน้อยมื้อละ 1.5-2 ทัพพี หรือได้รับมากขึ้นในกรณีที่ใช้พลังงานเยอะ อาหารในหมวดนี้ที่ควรเลือกรับประทาน ได้แก่ ข้าวสวย เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้ 

ข้าวที่ไม่ขัดสีมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมค่อนข้างสูง แนะนำให้รับประทานน้อย 

บะหมี่มีฟอสฟอรัสสูงกว่าอาหารเส้นชนิดอื่นเนื่องจากมีไข่แดง แนะนำให้ลดหรืองดในกรณีที่มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง

เส้นหมี่ซั่วมีโซเดียมสูงมากที่สุดในอาหารประเภทเส้น แนะนำให้หลีกเลี่ยง

น้ำตาลจัดอยู่ในหมวดคาร์โบไฮเดรต ให้รับประทานได้วันละไม่เกิน  6 ช้อนชาต่อวัน 

ไขมัน 

เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย อาหารโรคไตมีไขมันเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอ เฉลี่ยวันละ 6-10 ช้อนชาขึ้นอยู่กับความต้องการพลังงาน หากได้รับพลังงานไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ แนะนำให้ใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือใช้น้อยๆ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ

โซเดียม 

ถึงแม้จะได้รับการฟอกเลือดแต่ผู้ป่วยยังคงต้องจำกัดโซเดียม หากได้รับโซเดียมมากเกินจะทำให้ร่างกายมีน้ำเกินส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เหนื่อยง่าย ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมต้องดึงน้ำหนักออกมามากหรืออาจดึงออกได้ไม่หมด ผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องแพทย์ต้องใช้น้ำยาที่มีความเข้มข้นมากเพื่อดึงน้ำส่วนเกินออกได้มาก ส่งผลให้ได้รับน้ำตาลจากน้ำยาล้างไตมากขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) ในเลือดสูง ซึ่งล้วนส่งผลเสียแก่ร่างกาย

การควบคุมโซเดียมจากอาหารใช้หลักการเดียวกับอาหารโรคไตระยะก่อนล้างไต (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่อง: มารู้จักผัก-ผลไม้ สำหรับโรคไต – หัวข้อย่อย: โซเดียม)

โพแทสเซียม

เป็นเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกาย มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่สูงหรือ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติล้วนส่งผลเสียต่อร่างกาย ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมักต้องจำกัดโพแทสเซียม โดยใช้หลักการเดียวกับอาหารโรคไตระยะก่อนล้างไต ส่วนการล้างไตทางช่องท้องขจัดโพแทสเซียมออกได้มาก จึงมักพบปัญหาระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงรับประทานผัก ผลไม้ได้ทุกชนิด แต่ควรรับปริมาณที่เหมาะสมเนื่องจากในผลไม้มีน้ำตาล และผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องได้รับน้ำตาลที่ดูดซึมจากน้ำยาล้างไตส่วนหนึ่ง โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานผลไม้ วันละ 2-3 จานรองแก้วกาแฟหรือปรับตามระดับน้ำตาลในเลือด (สามารถดูปริมาณผัก-ผลไม้เพิ่มเติมในบทความเรื่อง: มารู้จักผัก-ผลไม้ สำหรับโรคไต – หัวข้อย่อย: โพแทสเซียม)

ฟอสฟอรัส

เป็นเกลือแร่ที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกร่วมกับแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรงและยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของเซลล์ต่างๆ เกี่ยวข้องในกระบวนการให้พลังงานแก่เซลล์และการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย ทำให้เซลล์ทำงานปกติ ผู้ที่ฟอกเลือดควรรักษาระดับฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่สูงจะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมนในเลือดที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลให้แคลเซียมสลายออกจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิด 

-อาการคันตามผิวหนัง 

-ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงเกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก กระดูกเปราะบาง 

-แคลเซียมที่สลายออกจากกระดูกร่วมกับระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่สูง จะทำให้เกิดหินปูนเกาะตามหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ ส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดได้

การควบคุมระดับฟอสฟอรัสในเลือดใช้ 3 วิธีร่วมกันคือ ฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้อง

ให้ครบตามที่แพทย์กำหนด ควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารและรับประทานยาจับฟอสฟอรัสให้ถูกต้อง

โดยผู้ป่วยบางท่านอาจไม่ต้องใช้ แพทย์เป็นผู้พิจารณาให้ตามความเหมาะสม

การรับประทานยาจับฟอสฟอรัสที่ถูกต้อง

แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งยาจับฟอสฟอรัส ส่วนใหญ่ใช้เป็นยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต มีกลไกลดการดูดซึมฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย โดยแคลเซียมในเม็ดยาจะไปจับกับฟอสฟอรัสในอาหารแล้วขับออกทางอุจจาระ ดังนั้นแพทย์จะสั่งให้กินยาจับฟอสฟอรัสพร้อมอาหาร ถ้ายาอยู่ในรูปแบบเม็ดที่เคี้ยวได้จะแนะนำให้เคี้ยวเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการจับกับฟอสฟอรัสได้มากขึ้น ในกรณีที่ไม่สะดวกในการเคี้ยวสามารถรับประทานยาพร้อมอาหารคำแรกได้เช่นกัน ยาจับฟอสฟอรัสที่ไม่ต้องเคี้ยว ได้แก่ ยาเม็ดแคปซูลและยาประเภทเซเวลาเมอร์คาร์บอเนต 

กรณีลืมรับประทานยาพร้อมอาหารคำแรก หากนึกได้ใน 2 ชั่วโมงให้รับประทานยาทันที หากนึกได้เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานอาหาร ไม่ต้องกินยาตามและไม่ต้องกินชดเชยในมื้อถัดไป

การควบคุมฟอสฟอรัสจากอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง

ฟอสฟอรัสพบในอาหารเกือบทุกชนิด การแบ่งฟอสฟอรัสในอาหารตามปริมาณฟอสฟอรัสที่ร่างกายดูดซึมได้เป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้การควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสที่เข้าสู่ร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

1) ฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ ร่างกายดูดซึมได้ราวครึ่งหนึ่ง ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง

2) ฟอสฟอรัสที่เกิดจาการเติมลงไปในอาหาร (hidden phosphorus หรือฟอสฟอรัสแอบซ่อน) เพื่อปรับปรุงคุณภาพอาหาร ทำให้อาหารอุ้มน้ำได้มากขึ้น ป้องกันการตกตะกอนทำให้อาหารเป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้อาหารที่เป็นผงไม่เกาะกัน ร่างกายจะดูดซึมฟอสฟอรัสชนิดนี้ได้เกือบหมด จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้อย่างเด็ดขาด

อาหารอะไรที่มีฟอสฟอรัสสูงหรือมีฟอสฟอรัสแอบซ่อน แบ่งตามกลุ่มอาหารได้ดังนี้

-อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์

  อาหารธรรมชาติที่มีฟอสฟอรัสสูงและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หนอนและแมลง

  • กบทั้งกระดูก (ถ้าเป็นเฉพาะเนื้อกบปริมาณฟอสฟอรัสใกล้เคียงกับเนื้อหมู เนื้อไก่ สามารถรับประทานได้)
  • เขียด อึ่งอ่าง แย้
  • ไข่ปลาทุกชนิด
  • ไข่แดง ถ้ามีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงควรงด แต่ถ้าระดับฟอสฟอรัสในเลือดปกติให้รับประทาน 2-3 ฟองต่อสัปดาห์
  • เต้าหู้และโปรตีนเกษตร ในกรณีที่จะรับประทานอาหารเจหรือมังสวิรัติควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร

อาหารที่มีฟอสฟอรัสแอบซ่อน

  • หมูเด้ง
  • ลูกชิ้น ถ้ารับประทานในปริมาณไม่มาก เช่น 2-3 ลูกในก๋วยเตี๋ยวให้รับประทานได้
  • อาหารทะเลแปรรูปต่างๆ เช่น เต้าหู้ปลา ปูอัด
  • ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม โบโลน่า หมูยอ ไก่ยอ แหนมหมู แหนมไก่
  • เนื้อสัตว์แช่เยือกแข็ง เช่น กุ้ง หมึก เนื้อปลา (ต้องละลายน้ำแข็งก่อนนำมาประกอบอาหาร)

***หากเป็นเนื้อสัตว์สดและนำมาแช่ช่องแข็งในตู้เย็นที่บ้าน จะไม่มีการเติมสารประกอบฟอสฟอรัส จึงสามารถรับประทานได้***

****ข้อสังเกตอาหารกลุ่มนี้เป็นเนื้อสัตว์แปรรูปและมีโซเดียมสูง

-อาหารกลุ่มข้าวแป้ง

  • ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต ข้าวไรส์เบอรี่ ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี

*อาหารเหล่านี้มีฟอสฟอรัสสูงแต่มีไฟเตทที่ลดการดูดซึมของฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย หากท่านรับประทานอยู่และระดับฟอสฟอรัสในเลือดไม่สูงก็รับประทานได้ และระมัดระวังไม่รับประทานอาหารในกลุ่มนี้มากเกินไป

  • บะหมี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานในปริมาณมากๆ และงดเมื่อระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง

*** เส้นบุกและเส้นแก้วให้พลังงานน้อยมาก ไม่ควรรับประทานเป็นอาหารมื้อหลัก เพราะทำให้ขาดพลังงาน

-กลุ่มเครื่องดื่ม

เครื่องดื่มที่มีฟอสฟอรัสแอบซ่อน ควรหลีกเลี่ยง

  • น้ำอัดลมทุกสี
  • เครื่องดื่มบรรจุขวดสำเร็จรูป เช่น ชาขวด ชามะนาวขวด โอเลี้ยงขวด ชากระป๋อง กาแฟกระป๋อง
  • เครื่องดื่มแบบผง เช่น ชาผง

* ใช้วิธีการอ่านฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณฟอสฟอรัสไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับให้แสดงปริมาณฟอสฟอรัสบนฉลากโภชนาการ

เครื่องดื่มที่มีนมหรือนมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ควรหลีกเลี่ยง

  • ชาต่างๆที่ใส่นม เช่น ชานม ชาเย็น ชาเขียวลาเต้
  • กาแฟใส่นม: ลาเต้ คาปูชิโน มอคค่า มัคคีอาโต้
  • โกโก้ใส่นม นมเย็น นมถั่วเหลือง

เครื่องดื่มที่มีฟอสฟอรัสสูง

  • เบียร์

เลือกเครื่องดื่มต่อไปนี้ทดแทน แต่คำนึงถึงปริมาณน้ำตาลและน้ำ (ถ้าแพทย์ให้จำกัดปริมาณน้ำ) ใช้น้ำตาลเทียมได้

  • โซดาชงกับน้ำหวาน น้ำผึ้ง น้ำมะนาว
  • ชาที่ชงจากใบชา เช่น น้ำชา ชาดำเย็น ชามะนาว
  • กาแฟดำร้อน/เย็น โอเลี้ยง

-กลุ่มของว่าง

ถั่วต่างๆ และเมล็ดพืชหลีกเลี่ยงการรับประทานในปริมาณมากๆ เช่น เป็นของขบเคี้ยว เป็นไส้ขนม (มีโพแทสเซียมสูงเช่นกัน ผู้ที่ฟอกเลือดควรระมัดระวัง)

  • ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วปากอ้า เกาลัด พิตาชิโอ วอลนัท แมคคาเดเมีย เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • เมล็ดพืช เช่น เม็ดบัว แป๊ะก๊วย เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมและของว่างอื่นๆ ที่มีฟอสฟอรัสสูง
  • ขนมปังโฮลวีท
  • ขนมอบที่มีอาหารหมวดเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม เช่น พายไส้เนื้อสัตว์ ทาร์ตไข่ ขนมปังไส้กรอก
  • ของว่างหมวดเนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้นไส้กรอกปิ้ง/ทอด/ย่าง (มีฟอสฟอรัสแอบซ่อน) ควรหลีกเลี่ยง
  • อาหารหมวดเนื้อสัตว์ที่มีฟอสฟอรัสตามธรรมชาติ เช่น สะเต๊หมู/ไก่ ไก่ทอด หมูปิ้ง ถ้ารับประทานปริมาณมากและบ่อยๆ

ควรแจ้งให้แพทย์และนักกำหนดอาหารทราบเพื่อพิจารณาในการให้แบบแผนการรักษาและคำแนะนำที่เหมาะสม

ขนมและของว่างที่มีส่วนผสมของไข่แดง นม ถั่ว ธัญพืช และฟอสฟอรัสแอบซ่อน

  • ธัญพืชต่างๆ เช่น ขนมปังโฮลวีท / ขนมปังธัญพืช
  • ถั่วลิสง เช่น สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ
  • เบเกอรี่ไส้เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น พายไก่ กะหรี่ปั๊บไส้ไก่ ขนมปังไส้หมูแดง
  • ไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน สังขยา
  • ไข่แดง นม ถั่ว เช่น เค้ก คุกกี้
  • นมและถั่ว เช่น ช็อกโกแลตแท่งรสนมใส่ถั่ว
  • นม เช่น ไอศกรีม
  • ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแปบ ถั่วกวน ขนมเปี๊ยะ ลูกชุบ

การรับประทานยาจับฟอสฟอรัสให้เหมาะสมกับมื้ออาหารโดยทั่วไปยาจับฟอสฟอรัส มักแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหารมื้อหลักสามมื้อ เช้า กลางวัน และเย็น เนื่องจากจะมีส่วนประกอบหลักเป็นอาหารหมวดข้าวแป้ง หมวดเนื้อสัตว์ หมวดผักและหมวดไขมัน โดยมีฟอสฟอรัสปริมาณมากจากอาหารหมวดเนื้อสัตว์ และยังมีโปรตีนซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ที่ฟอกเลือดด้วย บางท่านอาจไม่ได้รับประทานอาหารมื้อหลักสามมื้อ เช้า กลางวัน และเย็น ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์และนักกำหนดอาหารเพื่อให้ยาและแนะนำในการรับประทานยาจับฟอสฟอรัสให้เหมาะสมกับมื้ออาหาร

น้ำ  

หากได้รับน้ำมากเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำเกิน บวม เหนื่อยหอบ น้ำท่วมปอดและหัวใจโต ผู้ที่ฟอกเลือดควรควบคุมปริมาณน้ำดื่มและน้ำแอบแฝงที่ได้รับจากอาหาร ผักและผลไม้เพื่อป้องกันภาวะน้ำเกิน

แหล่งอาหารที่มีน้ำมาก

  • เครื่องดื่มทุกชนิด เช่น น้ำดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำแข็ง เป็นต้น
  • อาหารและขนม เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำแกง แกงจืด แกงส้ม ต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ วุ้น เยลลี่ ไอศกรีม เป็นต้น
  • ผักและผลไม้ เช่น ฟัก แฟง แตง น้ำเต้า บวบ แตงโม ส้ม สับปะรด ชมพู่ เป็นต้น










ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน

-ผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องปริมาณน้ำที่ควรได้รับต่อวัน (มิลลิลิตร)

= ปริมาณน้ำ 500 มิลลิลิตร + ปริมาณปัสสาวะ 24 ชั่วโมง(มิลลิลิตร) +/- ปริมาณกำไรหรือขาดทุน (มิลลิลิตร) จากน้ำยาล้างไตทางช่องท้องใน 1  วัน

** ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะบวมควรจำกัดปริมาณน้ำไม่เกิน 300-500 มิลลิลิตรต่อวันหรือควรจำกัดปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

-ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ปริมาณน้ำดื่ม + น้ำในอาหารต่อวัน

– ยังมีปัสสาวะ                            =   ปริมาตรปัสสาวะ + 500 มิลลิลิตร 

– ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ  = 800 มิลลิลิตร  

หรือควบคุมปริมาณตามคำสั่งแพทย์

เอกสารอ้างอิง

1.สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ.2561.

2.สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. แนวปฏิบัติการล้างไตทางช่องท้อง พ.ศ. ๒๕๖๐ Clinical Practice Guideline (CPG) for Peritoneal Dialysis 2017.พิมพ์ครั้งที่ 1: บ.เฮลธ์ เวิร์ค พลัส จำกัด; 2561.

3.Kamyar Kalantar-Zadeh, Lisa Gutekunst, Rajnish Mehrotra, et al. Understanding Sources of Dietary Phosphorus in the Treatment of Patients with Chronic Kidney Disease. American Society of Nephrology. 2010; 5  519-530

4.อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์. Manual of Nephrology. กรุงเทพมหานคร: นำอักษราการพิมพ์; 2559.

5.เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์. คู่มือปฎิบัติการเรื่อง การดูแลทางโภชนาการในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องสำหรับนักกำหนดอาหาร. สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2564.

6.เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์. บทนำและแบบแผนการรับประทานอาหาร.ใน: เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์  สิรารัตน์ เกตุสมบูรณ์ ระวีวรรณ ลาภพิเชษฐไพบูลย์ สมิทธิ โชติศรีลือชา และนาเดีย กิจเจริญธร. คู่มืออาหารสำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง กรุงเทพมหานคร: Nextstep design; 2565:1-9.

7.เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์. ฟอสฟอรัส.ใน: เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์  สิรารัตน์ เกตุสมบูรณ์ ระวีวรรณ ลาภพิเชษฐไพบูลย์ สมิทธิ โชติศรีลือชา และนาเดีย กิจเจริญธร. คู่มืออาหารสำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องกรุงเทพมหานคร: Nextstep design; 2565:43-55.

8.สิรารัตน์ เกตสมบูรณ์. น้ำ.ใน: เอื้อชัชญา กาลสัมฤทธิ์  สิรารัตน์ เกตุสมบูรณ์ ระวีวรรณ ลาภพิเชษฐไพบูลย์ สมิทธิ โชติศรีลือชา และนาเดีย กิจเจริญธร. คู่มืออาหารสำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องกรุงเทพมหานคร: Nextstep design; 2565:57-58.

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงวัยเสี่ยงล้มง่าย กินอะไรช่วยได้

ผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มโดยเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3...

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *