คุณทราบหรือไม่ว่าตับที่แข็งแรงนั้น แม้ว่าจะถูกกำจัดออกไป 80% มันก็ยังทำหน้าที่ต่อไปได้ และตับยังมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูตัวเอง คือถึงจะมีการเอาเนื้อตับออกไปมากถึง 3 ใน 4 ส่วน ตับก็ยังสามารถแบ่งเซลล์สร้างเนื้อตับขึ้นมาใหม่ที่มีขนาดปกติได้ ความสามารถที่น่าทึ่งของตับนี้ถูกนำมาใช้ในการปลูกถ่ายตับ สำหรับผู้บริจาค ตับที่เหลือจะฟื้นฟูขึ้นใหม่จนเต็มขนาดภายใน 6-8 สัปดาห์ ส่วนผู้รับ ตับจะใช้เวลานานขึ้นเล็กน้อยในกระบวนการฟื้นฟูตัวเองจนในที่สุดทั้งผู้บริจาคและผู้รับก็มีตับขนาดปกติที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์
หน้าที่สำคัญของตับ
ตับเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมากๆ ซึ่งคนเรามักไม่ได้นึกถึงมันจนกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ตับมีหน้าที่กว่า 500 อย่างที่ต่างกันแต่หน้าที่หลักๆที่สำคัญดังนี้
- ตับมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเผาผลาญทั้งหมดในร่างกาย
ในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ตับจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ หากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เช่น หลังมื้ออาหาร ตับจะเอาน้ำตาลส่วนเกินออกจากเลือดแล้วมาเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ตับจะสลายไกลโคเจนและปล่อยน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด
ในการเผาผลาญไขมัน เซลล์ตับจะสลายไขมันและสร้างพลังงาน เซลล์ตับผลิตน้ำดีประมาณ 800 ถึง 1,000 มิลลิลิตรต่อวันส่งไปตามท่อน้ำดีแล้วเก็บไว้ในถุงน้ำดี เมื่ออาหารไขมันมาถึงลำไส้เล็กส่วนต้น น้ำดีก็จะถูกหลั่งออกมาย่อยไขมันทำให้ไขมันแตกตัวเล็กลงและถูกย่อยได้ง่าย
ในการเผาผลาญโปรตีน เซลล์ตับเปลี่ยนกรดอะมิโนในอาหารเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานหรือสร้างคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน สารพิษที่เรียกว่าแอมโมเนียเป็นของเสียจากกระบวนการนี้ เซลล์ตับจะเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นสารที่มีพิษน้อยกว่าที่เรียกว่ายูเรีย ซึ่งจะปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ยูเรียจะถูกส่งไปที่ไตและขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
- ตับกำจัดสารที่เป็นอันตรายออกจากร่างกายของเราเช่น แอลกอฮอล์ ของเสียจากการย่อยสลายของยาต่างๆที่เรากินเข้าไป
- ตับกักเก็บวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค) รวมทั้งวิตามินบี 12 และแร่ธาตุ (เหล็กและทองแดง) และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดยามจำเป็น
- ตับสังเคราะห์คอเลสเตอรอล รวมถึงไตรกลีเซอไรด์จากกลูโคสส่วนเกิน นอกจากนี้ตับยังสังเคราะห์โปรตีนหลายๆชนิด เช่น อัลบูมิน โปรตีนที่ไปจับกับฮอร์โมนเช่น Sex Hormone-Binding Globulin (SHBG) และตับยังผลิตโปรตีนที่มีส่วนสำคัญในการแข็งตัวของเลือดด้วยความช่วยเหลือของวิตามินเค
ดูแลอาหารเมื่อเป็นโรคตับ
นิสัยบางอย่าง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปและการกินอาหารที่ไม่ดีเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคตับได้ แต่หากคุณเป็นโรคตับอยู่แล้ว พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้อาการของคุณแย่ลง ดังนั้น ควรลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะโภชนาการที่ดีช่วยในการฟื้นฟูเซลล์ตับได้ อาหารโรคตับไม่ได้มีลักษณะตายตัวเพราะขึ้นกับระยะของโรคและภาวะอื่นๆที่เป็น เช่น ท้องมานหรือท้องบวม หรือถ้าคุณมีโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD)) ซึ่งเป็นโรคตับรูปแบบหนึ่งที่คนเป็นกันมากก็ควรลดน้ำหนัก เพราะการลดน้ำหนักมีส่วนช่วยลดไขมันในตับได้ แนะนำให้ปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อวางแผนอาหารให้เหมาะกับภาวะที่คุณเป็นอยู่
โรคตับเรื้อรังทุกระยะมีความสัมพันธ์กับภาวะขาดโปรตีน-พลังงาน นอกจากนี้ ความผิดปกติของตับที่เรื้อรังอาจทำให้ความอยากอาหารลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณสารอาหารที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม การบริโภคพลังงานและโปรตีนให้เพียงพอนั้นอาจทำได้ยากในผู้ป่วยตับระยะลุกลามที่ขาดสารอาหารและมีมวลกล้ามเนื้อน้อย สมาคมโรคตับแห่งสหภาพยุโรป (The European Association for the Study of the Liver (EASL)) แนะนำการใช้อาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการและอาหารเสริมที่มีกรดอะมิโนแบบกิ่ง (Branched Chain Amino Acid (BCAA)) ในผู้ป่วยตับเหล่านี้ตามแนวทางการดูแลด้านโภชนาการในผู้ป่วยตับเรื้อรัง
ผู้เขียน
นัฏฐิกา สงเอียด
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
แหล่งอ้างอิง :
- Basic Physiology for Anaesthetists , Section 5 – Gastrointestinal Tract (Chapter 66 – Liver Function) published online by Cambridge University Press: 31 July 2019, pp. 299 – 306.
- Physiology of the liver. International Journal of Research in Pharmacy and Biosciences. Volume 4, Issue 8, 2017, pp. 13-24.
- The Role of Diet Therapy in the Treatment of Liver Disease. Mater Sociomed. 2020 Sep;32(3):200-206.
- Principles of Nutritional Management in Patients with Liver Dysfunction-A Narrative Review. Livers. 2023 Apr;3(2):190-218
- EASL Clinical Practice Guidelines on nutrition in chronic liver disease. J Hepatol. 2019 Jan;70(1):172-193.
บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงวัยเสี่ยงล้มง่าย กินอะไรช่วยได้
ผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มโดยเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3...
เบาหวานอย่าเบาใจ
เบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รักษาไม่หายแต่จัดการได้..
ผู้ป่วยล้างไตต้องการโปรตีนและพลังงานต่ำใช่หรือไม่!!!!!
ผู้ป่วยล้างไต ไม่ว่าจะด้วยเครื่องไตเทียม หรือทางช่องท้อง ต้องได้โปรตีนสูงขึ้น พลังงานเพียงพอ...
โปรตีนดี ร่างกายแข็งแรง
ในกระบวนการสร้างโปรตีนเพียงแค่ขาดกรดอะมิโนชนิดใดชนิดหนึ่งไป จะทำให้กระบวนการสร้างโปรตีนไม่สมบูรณ์
ใยอาหารก็คุมน้ำตาลได้นะ
การเพิ่มใยอาหาร 1 ถึง 45 กรัมต่อวันช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น...