มาคุมน้ำหนักกันเถอะ

มาคุมน้ำหนักกันเถอะ

โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคเบาหวานที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ มีการประมาณการว่าหากน้ำหนักเกิน (ค่าดัชนีมวลกาย 23 – 24.9 กก./ม.2 สำหรับชาวเอเชีย) จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 3 เท่า แต่หากอ้วน (ค่าดัชนีมวลกาย > 25 กก./ม.2 สำหรับชาวเอเชีย) จะเสี่ยงเกิดเบาหวาน 7 เท่า โดยพบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอยู่ถึง 90% เลยทีเดียว

ลดน้ำหนักแล้วได้อะไร? 

ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การลดน้ำหนักตัวลงปานกลาง (5-10% ของน้ำหนัก) ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น ความดันและค่าไขมันในเลือดดีขึ้น และความจำเป็นในการใช้ยาลดระดับน้ำตาลก็ลดลง หากจำกัดแคลอรีอย่างเข้มงวดมากขึ้นก็สามารถลดน้ำตาลสะสมเฉลี่ย (HbA1c) และน้ำตาลขณะอดอาหารได้ อีกทั้งยังช่วยให้โรคเบาหวานอยู่ในระยะสงบ (ระดับน้ำตาลอยู่ในระดับปกติอย่างน้อย 3 เดือนโดยไม่ได้ใช้ยา) ได้อย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน 

สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวานหรือ Prediabetes (น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน) มีหลักฐานงานวิจัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกันว่าการลดน้ำหนักตัวลงปานกลางและรักษาน้ำหนักที่ลดลงไว้ได้สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง

ลดและคุมน้ำหนักอย่างไร?

National Weight Control Registry (NWCR) เป็นการศึกษาที่สำคัญและยาวนานที่สุดในการประเมินลักษณะของคนที่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักและคงไว้ซึ่งน้ำหนักตัวที่ลดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาสามารถลดน้ำหนักลงได้เฉลี่ย 33 กก. และรักษาน้ำหนักที่ลดลงได้นานกว่า 5 ปี ต่อไปนี้คือกลยุทธ์หลักที่พวกเขาใช้เพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่ได้ในระยะยาว

  • กินอาหารที่มีแคลอรีต่ำและไขมันต่ำ
  • กินอาหารเช้าทุกวัน 
  • ออกกำลังกาย (ระดับปานกลาง) ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน เช่น เดินเร็ว
  • ชั่งน้ำหนักตัวสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่รายงานว่า 1 ครั้ง/วัน เพื่อเฝ้าระวังน้ำหนักที่เปลี่ยนไปและแก้ไขได้ทัน
  • คุมอาหารทั้งวันธรรมดาและวันหยุด 

มีหลักฐานใหม่ๆแสดงให้เห็นว่า การยึดมั่นตามแบบแผนอาหารลดน้ำหนักอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะกินอาหารแบบใด มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความสำเร็จในการลดน้ำหนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

เมื่อคุณเป็นเบาหวานการจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นหากคุณต้องการลดน้ำหนักและต้องกินยาลดน้ำตาลในเลือดด้วย การกินอาหารมื้อหลักและอาหารว่างระหว่างมื้ออาจเหมาะกับการลดน้ำหนักมากกว่าการงดอาหารเป็นเวลานานๆ ซึ่งหากงดอาหารอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ แบบแผนการรับประทานอาหารเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความชอบ ความต้องการ และเป้าหมายของแต่ละคน คุณสามารถปรึกษานักกำหนดอาหารถึงรูปแบบอาหารที่เหมาะกับคุณรวมถึงการใช้อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ตัวช่วยลดและคุมน้ำหนัก

การศึกษา Look AHEAD (Action for Health in Diabetes) ในผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำหนักเกินและอ้วนเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังต่อผลลัพธ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังจะมีการใช้อาหารทดแทนในบางมื้อเพื่อลดน้ำหนักและต้องออกกำลังกายระดับปานกลางให้ได้ 175 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ใช้อาหารทดแทนแต่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเบาหวาน พบว่าเมื่อครบ 1 ปี กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังลดน้ำหนักได้โดยรวม 8.6% เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ลดได้เพียง 0.7% และเมื่อครบ 9 ปีครึ่ง กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังสามารถลดน้ำหนักได้ 6.0% เทียบกับ 3.5%ในกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานของอเมริกาปี 2023 (Standards of Medical Care in Diabetes) ระบุว่าการใช้อาหารแคลอรีต่ำร่วมกับอาหารทดแทนมีประโยชน์ช่วยลดน้ำหนักในผู้ป่วยเบาหวาน 

ดังนั้น คุณสามารถใช้อาหารทางการแพทย์ทดแทน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนในการลดน้ำหนักโดยทดแทนอาหารมื้อหลัก 1 มื้อต่อวัน ร่วมกับการกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำและไขมันต่ำในมื้ออื่นๆ อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ทดแทนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นตัวช่วยเริ่มต้นให้น้ำหนักตัวของคุณลดลงแล้ว ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย คุณอาจใช้อาหารทดแทนนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการคงน้ำหนักตัวที่ลดลงไว้ได้ในระยะยาว 

ผู้เขียน 

นัฏฐิกา สงเอียด

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

แหล่งอ้างอิง :

  1. Managing obesity in people with type 2 diabetes. Clin Med (Lond). 2021 Jul;21(4): e327–e231.
  2. Obesity and Weight Management for the Prevention and Treatment of Type 2 Diabetes: Standards of Care in Diabetes—2023. Diabetes Care 2023;46(Suppl. 1):S128–S139.
  3. Evidence-based European recommendations for the dietary management of diabetes. Diabetologia. 2023 Jun;66(6):965-985.
  4. Long-term weight loss maintenance for obesity: a multidisciplinary approach. Diabetes Metab Syndr Obes. 2016 Feb;9:37-46.

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงวัยเสี่ยงล้มง่าย กินอะไรช่วยได้

ผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มโดยเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *