รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยฉบับล่าสุด พ.ศ.2564ให้นิยามของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ว่า “เป็นบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย” และได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
– ผู้สูงอายุวัยต้น มีอายุ 60-69 ปี
– ผู้สูงอายุวัยกลาง มีอายุ 70-79 ปี
– ผู้สูงอายุวัยปลาย มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
จากรายงานฉบับข้างต้น ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเป็นทางการแล้ว และมีอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุ
การหกล้มในผู้สูงอายุ
จากงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษานโยบายและการดำเนินงานการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุในประเทศไทย” ระบุว่าปัญหาการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเป็นระดับต้นของประเทศ ผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มโดยเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3 เท่าและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป
การหกล้ม เป็นสาเหตุหลักของการเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพก และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องย้ายจากบ้านและชุมชนไปอยู่สถานพักฟื้นคนชรา การลดการเกิดการหกล้มทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ จัดทางเดินให้เป็นระเบียบ ระวังพื้นที่เปียก เช่นพื้นครัว พื้นห้องน้ำ สวมรองเท้าที่เหมาะสมไม่หลวมหรือขาด ระวังพื้นต่างระดับ และไม่นอนบนพื้นแต่ถ้าจำเป็นต้องลุกขึ้นช้าๆ ส่วนการป้องกันทำได้โดย ออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ กินยาถูกต้องตามแพทย์สั่ง ตรวจสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
จึงเห็นได้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มประชากรจำนวนมากของประเทศ การพลัดตกหกล้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตต่อผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ดูแลเป็นอย่างมาก การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข โดยการป้องกันที่สามารถทำได้ด้วย”การกิน” คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยที่มักเกิดในผู้สูงอายุ
ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยและการหกล้มในผู้สูงอายุ
การมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เกิดจากภาวะการมีมวลกล้ามเนื้อน้อย เป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การหกล้ม โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมวลกล้ามเนื้อน้อย ได้แก่ อายุที่สูงขึ้น ภาวะทุพโภชนาการ ดัชนีมวลกายต่ำ มีกิจกรรมทางกายน้อย การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ปัจจัยเรื่องอายุที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ แต่ปัจจัยที่เหลือสามารถป้องกันได้ ดังนั้นการลดความเสี่่ยงของการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยจึงทำได้โดย การมีกิจกรรมทางกาย เช่น ไม่นั่งนิ่งอยู่กับที่นานๆ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้กล้ามเนื้อสลายเร็วขึ้น ซึ่งได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งสำคัญที่ทำได้ด้วยการกิน คือ การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากอาหาร 5 หมู่
กินอย่างไรถึงจะไม่หกล้ม
ผู้สูงอายุยังต้องการพลังงานและสารอาหารจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เช่นเดียวกับกลุ่มอายุอื่นๆ ความต้องการพลังงานจะลดลงเนื่องจากผู้สูงอายุมักมีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ในขณะที่ต้องได้รับโปรตีนให้เพียงพอในปริมาณที่เท่ากับกลุ่มวัยหนุ่มสาว เพื่อการซ่อมแซมเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ นำไปสังเคราะห์สารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของร่างกายและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ไม่ให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดการหกล้ม
การรับประทานอาหารสำหรับการป้องกันการหกล้มทำได้โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยมีรายละเอียดดังนี้
หมู่ข้าวแป้ง
รับประทานวันละ 5-9 ทัพพี โดยเลือกเป็นข้าวกล้องอย่างน้อยมื้อใดมื้อหนึ่งของวันหรืออาจหุงผสมกับข้าวขาวเพื่อให้ได้รับใยอาหารซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินบี 1 และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้าๆทำให้รู้สึกอิ่มนาน
หมู่ผัก
รับประทานวันละ 4 ทัพพีเป็นอย่างน้อย โดยเลือกผักตามฤดูกาลให้หลากหลายชนิดเพื่อให้ได้รับใยอาหาร เกลือแร่และสารสีต่างๆที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกาย
หมู่ผลไม้
ผลไม้ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาล มีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุและสารสีต่างๆที่ส่งเสริมการทำงานของร่างกาย เลือกรับประทาน 1-3 จานเล็ก (ขนาดจานรองแก้วกาแฟ) ควรเลือกผลไม้ตามฤดูกาล
หมู่เนื้อสัตว์
เป็นแหล่งของโปรตีนรับประทานวันละ 6-12 ช้อนกินข้าว เลือกเนื้อสัตว์ที่มันน้อยไม่ติดหนัง แหล่งโปรตีนที่รับประทานง่ายอีก 1 อย่างที่สำคัญ คือ ไข่ทั้งฟอง ผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง สามารถรับประทานไข่ทั้งฟองได้วันละ 1 ฟอง แต่กรณีที่มีปัญหาแนะนำ 2-3 ฟองต่อสัปดาห์
นมนอกจากจะให้โปรตีนแล้ว ยังมีแคลเซียมสูง ซึ่งช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง เลือกดื่มนมไขมันต่ำ วันละ 1-2 แก้วเพื่อให้ได้รับแคลเซียม หากดื่มนมแล้วท้องเสียสามารถดื่มนมที่ดึงแลคโตสออกหรือโยเกิร์ตไขมันต่ำรสธรรมชาติแทนได้
หมู่ไขมัน
หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว โดยไขมันอิ่มตัวพบมากในไขมันสัตว์ หนังสัตว์ ส่วนในพืชพบในกะทิ น้ำมันปาล์ม ควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้น้อยๆ อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ก็เลี่ยงการรับประทานส่วนของน้ำแกงในปริมาณมากๆ น้ำมันปาล์มเหมาะกับการทอดอุณหภูมิสูง อาหารทอดน้ำมันท่วมที่ขายมักใช้น้ำมันปาล์มในการทอด แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทนี้นานๆครั้ง เป็นต้น
อาหารอื่นๆ
-น้ำตาล
หากรับประทานมากๆจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เป็นโรคเบาหวาน น้ำหนักเกิน ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ปริมาณที่เหมาะสมแนะนำให้รับประทานวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา อาหารที่เป็นแหล่งของน้ำตาลปริมาณมาก คือ เครื่องดื่มต่างๆ กลุ่มเครื่องดื่มชนิดใส เช่น เก๊กฮวย ชามะนาว น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะพร้าว น้ำมะนาว มีน้ำตาลเฉลี่ย 12 ช้อนชาต่อแก้ว กลุ่มเครื่องดื่มที่ใส่นม เช่น กาแฟ ชาเย็น ชานม ชาเขียวใส่นม โกโก้ มีน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชาต่อแก้ว ดังนั้นควรเลือกเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลหรือสั่งแบบน้ำตาลน้อยจะเป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่า
– โซเดียม
หลีกเลี่ยงอาหาร/รับประทานน้อย โดยโซเดียมพบมากในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น ผักผลไม้ดอง เนื้อสัตว์ตากแห้ง ปลาเค็ม การปรุงรสเพิ่มโดยใช้ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสก่อนการรับประทานอาหาร
– น้ำสะอาด
ดื่มให้เพียงพอประมาณ 8 แก้วต่อวัน
กล่าวโดยสรุปการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆตามหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้
- กินอาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
- กินข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย
- กินพืชผักและผลไม้ตามฤดูกาลเป็นประจำ
- กินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วและผลิตภัณฑ์เป็นประจำ
- ดื่มนมและผลิตภัณฑ์เป็นประจำ เพื่อให้ได้รับแคลเซียม
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน
- กินอาหารสะอาด ปลอดภัย
- งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อาหารสูตรครบถ้วนกับผู้สูงอายุ
อาหารสูตรครบถ้วน คือ อาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีวิตามิน เกลือแร่และใยอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยมากอยู่ในรูปลักษณะผงแล้วเอามาชงกับน้ำดื่มเสริมหรือทดแทนมื้ออาหาร
ปัญหาสุขภาพช่องปากและเรื่องฟันเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จากการศึกษาภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุพบว่าปัญหาของสุขภาพช่องปากและฟัน ความสามารถในการเคี้ยวอาหาร เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะทุพโภชนาการ การแก้ไขปัญหาทำได้โดยการทำฟันปลอม การดัดแปลงลักษณะอาหารให้เคี้ยวอ่อนนุ่มเคี้ยวง่ายขึ้น การดัดแปลงอาหารให้กลืนง่ายขึ้น
อาหารสูตรครบถ้วนจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่ทำให้ผู้สูงอาหารได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนได้
เอกสารอ้างอิง
1.มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.).รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564
2.มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. การหกล้มในผู้สูงอายุ . [อินเทอร์เนต] [เข้าถึงเมื่อ 2566 สิงหาคม 4]; เข้าถึงได้จาก: URL: https://thaitgri.org/
3.สถาบันวิจัย ระบบ สาธารณสุข, et al. การล้มในผู้สูงอายุ.2016.
4.Wayo W, Konyai J, Chanhuana S, Kadsanit K, Phromboot R. การป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้ สูงอายุที่อยู่ในชุมชน: บทบาทพยาบาล. The Journal of Prapokklao Hospital Clinical Medical Education Center. 2022; 39(3):375-380.
5.Chaithongkrua P, Temcharoen P, Chandrasiri V, Soontornchai S. ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยของผู้สูงอายุในอำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี. Journal of the Department of Medical Services. 2021; 46(2):103-110.
6.คณะกรรมการและคณะกรรมการปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 DIETARY REFERENCE INTAKE FOR THAIS 2020. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี โปรเกรสซีฟ 2563.
7.ประไพศรี ศิริจักรวาล.Healthy Diet for Elderly: ข้อแนะนำการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุไทย.ประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะด้านโภชนาการ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุตลอดช่วงชีวิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย” 14-15 ธ.ค. 2560 (Cluster ผู้สูงอายุ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย)
8.Chuansangeam, M., Wuthikraikun, C., Supapueng, O., & Muangpaisan, W. (2022). Prevalence and risk for malnutrition in older Thai people: A systematic review and meta-analysis. Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition, 31(1), 128-141.
บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงวัยเสี่ยงล้มง่าย กินอะไรช่วยได้
ผู้สูงอายุไทยเสียชีวิตจากการหกล้มโดยเฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 3...
เบาหวานอย่าเบาใจ
เบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รักษาไม่หายแต่จัดการได้..
ผู้ป่วยล้างไตต้องการโปรตีนและพลังงานต่ำใช่หรือไม่!!!!!
ผู้ป่วยล้างไต ไม่ว่าจะด้วยเครื่องไตเทียม หรือทางช่องท้อง ต้องได้โปรตีนสูงขึ้น พลังงานเพียงพอ...
โปรตีนดี ร่างกายแข็งแรง
ในกระบวนการสร้างโปรตีนเพียงแค่ขาดกรดอะมิโนชนิดใดชนิดหนึ่งไป จะทำให้กระบวนการสร้างโปรตีนไม่สมบูรณ์
ใยอาหารก็คุมน้ำตาลได้นะ
การเพิ่มใยอาหาร 1 ถึง 45 กรัมต่อวันช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น...