ล้างไต กินได้ชีวิตดี โภชนบำบัดในผู้ป่วยล้างไต

ล้างไต กินได้ชีวิตดี โภชนบำบัดในผู้ป่วยล้างไต

ทำไมต้องฟอกเลือด  

    สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เมื่อดำเนินเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 คือ อัตราการกรองไต  น้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม. การทำงานของไตจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ไตจะไม่สามารถกรองของเสียและขับสารน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป ซึ่งนำไปสู่การสะสมของเกลือแร่ รวมทั้งของเสีย และน้ำส่วนเกินภายในร่างกายส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ความดันโลหิตสูง , โรคโลหิตจาง, โรคกระดูก และโรคทางหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไต ด้วยการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม หรือ การล้างไตผ่านทางช่องท้อง เพื่อช่วยกำจัดเกลือแร่ที่สูงเกินไป ของเสียจากร่างกาย และน้ำส่วนเกิน ซึ่งเมื่อเข้ารับการฟอกเลือดแล้ว คำแนะนำในการรับประทานอาหารในแต่ละวันจะมีความแตกต่างไปจากช่วงที่การทำงานของไตอยู่ในระยะ  3 – 4 จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ป่วยโรคไตหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไตอาจเกิดกังวลหรือสับสนในการรับประทานอาหารเพื่อคงภาวะโภชนการที่ดีต่อไป ดังนั้น ความเข้าใจทางด้านโภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต

น้ำหนักตัวในอุดมคติ 

   ในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดอาจมีภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะบวมน้ำร่วมด้วย ดังนั้นการกำหนดปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน แนะนำให้ใช้การคำนวนจากน้ำหนักตัวในอุดมคติ หรือ ideal body weight ซึ่งมีหน่วยเป็นกิโลกรัม ซึ่งสามารถคำนวณได้อย่างง่ายๆดังนี้ 

               น้ำหนักตัวในอุดมคติ ในเพศชาย = ความสูง (ซม.) – 100               

               น้ำหนักตัวในอุดมคติ เพศหญิง = ความสูง (ซม.) -105

พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน 

    ผู้ป่วยที่เข้ารับการฟอกเลือดจะมีการสูญเสียพลังงานอย่างมากขณะที่เข้ารับการฟอกเลือด อีกทั้งโรคประจำตัวเดิมยังส่งผลให้มีภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย ดังนั้นมีจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารมากขึ้นกว่าปกติ โดยปริมาณแคลอรี่ที่แนะนำในแต่ละวันจะแตกต่างกันไปใน แต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับ น้ำหนัก อายุ ระดับกิจกรรม หรือภาวะสุขภาพขณะนั้น ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ได้รับพลังงาน 30 ถึง 35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน เช่น ผู้ชาย สูง 175 ซม. น้ำหนักจริง 85 กก.     น้ำหนักตัวที่ใช้คำนวน คือ 75 กก.จึงควรได้รับพลังงานจากอาหารต่อวัน 2,250 – 2,625 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

    ทั้งนี้กรณีที่ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง และใช้น้ำยาที่มีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบ จะมีการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากน้ำยาล้างไต ประมาณ 200 ถึง 750 กิโลแคลอรี/วัน ดังนั้นการคำนวณพลังงานที่ได้รับต่อวันต้องนับรวมพลังงานที่ได้จากน้ำยาที่ใช้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานจนเกินพอดี ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับไขมันในเลือด

การรับประทานโปรตีน

     โปรตีนมีความสำคัญต่อการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและรักษามวลกล้ามเนื้อ ร่างกายของผู้ป่วยฟอกเลือดมักต้องการโปรตีนมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากสูญเสียกรดอะมิโนในระหว่างการฟอกเลือด อีกทั้งร่างกายจะมีการลดการสร้างโปรตีน และเพิ่มการสลายโปรตีนในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่ฟอกเลือดโดยเครื่องไตเทียมควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.0 – 1.2  กรัมของโปรตีนต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ส่วนผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ควรได้รับ 1.2 – 1.3 กรัมของโปรตีนต่อน้ำหนักตัวต่อวัน โดยเน้นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อไม่ติดมัน ปลา ไข่ เป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของโปรตีนที่ได้รับทั้งหมด หรืออาจพิจารณาอาหารทางการแพทย์เพิ่มเติมในกรณีที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

คาร์โบไฮเดรตหรืออาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล

   คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่สิ่งสำคัญคือต้องเลือกประเภทที่เหมาะสม ควรเน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic index ต่ำ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ไม่หวานในปริมาณที่เหมาะสม และผักที่มีเส้นใย และจำกัดน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาลทราย น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ ผลไม้ที่มีรสหวานจัด ปริมาณน้ำตาลที่ได้รับทั้งหมดไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หากได้รับมาเกินพอดีอาจทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวรวมทั้งระดับไขมันเพิ่มมากขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย

ไขมัน

   ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้ารับการฟอกเลือด มักประสบปัญหาไขมันผิดปกติ โดยเฉพาะการเกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และการขาดกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกรับประทาน ไขมันกลุ่มโอเมก้า 3, 6 และ 9 ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคไต เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง ปลาทะเล โดยในการปรุงอาหารควรเลือกวิธีการปรุงเป็นนึ่ง ต้ม ตุ๋น ย่าง ผัดด้วยน้ำ  หากใช้น้ำมันปรุงอาหารและควรใช้ปริมาณน้อยและเลือกชนิดน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า และจำกัดการบริโภคน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวันอีกทั้งควรจำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันเต็ม (whole milk) ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และเลี่ยงไขมันทรานส์ที่พบในอาหารทอดความร้อนสูง อาหารแปรรูป เบเกอรี่

แร่ธาตุ

   เนื่องจากไตสูญเสียการทำงานไปอย่างมากจนไม่สามารถขับเกลือแร่หรือแร่ธาตุส่วนเกินออกจากเลือดได้ ผู้ป่วยฟอกเลือดจึงควรระมัดระวังอย่างมากในการรักษาระดับแร่ธาตุสำคัญเหล่านี้ ได้แก่

   โซเดียม หากได้รับโซเดียมสูงเกินไปอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง บวมน้ำ ภาวะน้ำเกิน จึงควรจำกัดการบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นเกลือแกง 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาประมาณ 3- 4 ช้อนชา โดยหลีกเหลี่ยงอาหารที่มีเกลือและมีรสเค็ม เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกระป๋อง และขนมขบเคี้ยว ลดการปรุงอาหารด้วยเกลือน้ำปลา แนะนำให้ใช้รสเปรี้ยวจากมะนาว มะเขือเทศ หรือสมุนไพรต่างๆ เช่น กะเพรา โหระพา พริกไทย ตะไคร้ เพื่อชูรสของอาหารแทน ระมัดระวังในการรับประทานน้ำจิ้ม เครื่องปรุง หรือซดน้ำซุป แกงจืด น้ำก๋วยเตี๋ยว

   โพแทสเซียม หากระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินปกติ อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ จึงควรจำกัดอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสีส้ม หรือเหลืองเข้ม เช่น กล้วย ส้ม มะม่วง มันฝรั่ง และควรระวังเครื่องปรุงโซเดียมต่ำบางประเภทที่อาจใช้เกลือโพแทสเซียมทดแทน

    ฟอสฟอรัส เนื่องจากฟอสฟอรัสส่วนเกินอาจส่งผลต่อกระดูกและหลอดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม เบเกอรี่ ชีส อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งที่มีสารปรุงแต่งหรือสารกันบูด เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม และน้ำอัดลม

    แคลเซียม เพื่อรักษาสุขภาพกระดูกและฟันที่ดี จึงต้องรักษาระดับแคลเซียมให้สมดุลกับฟอสฟอรัส  ผู้ป่วยจึงควรได้รับแคลเซียมอย่างพอเหมาะจากอาหารที่รับประทาน  หรือจากแคลเซียมเสริมที่แพทย์สั่งจ่าย

วิตามิน

   ผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดอาจมีการสูญเสียวิตามินไปในระหว่างกระบวนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง โดยเฉพาะวิตามินละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี วิตามินซี จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดได้รับวิตามินอย่างพอเพียงจากอาหารในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย (Thai RDI) ยกเว้นบางภาวะที่สงสัยว่าอาจมีการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ แพทย์อาจมีสั่งตรวจหรือสั่งจ่ายวิตามินและแร่ธาตุเพิ่มเติมเป็นกรณีไป

 ควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการซื้อวิตามินรับประทานเองโดยเฉพาะวิตามินละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินเค ส่วนวิตามินดีนั้น มีผลต่อกระดูกและสุขภาพด้านอื่นๆของร่างกาย ซึ่งแพทย์อาจมีการสั่งเจาะตรวจและจ่ายวิตามินดีแบบรับประทานให้ในขนาดที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ใยอาหาร

   ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้งแบบฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือฟอกเลือดทางช่องท้องควรได้รับใยอาหาร เท่ากับความต้องการของคนปรกติ คือ  25 ถึง 30 กรัม/วัน  เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบขับถ่าย โดยเฉพาะไฟเบอร์กลุ่มที่ละลายในน้ำ (soluble fiber)  เช่น ธัญพืช ถั่ว ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล ซึ่งช่วยให้อิ่มนาน อยู่ท้อง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล และ รักษาระดับอินซูลินในร่างกาย ซึ่งปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วย

ปริมาณน้ำต่อวัน

    การได้รับปริมาณของเหลวจากการดื่มน้ำหรือน้ำในอาหารมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดบวมน้ำและเกิดภาวะน้ำเกินได้ สำหรับผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแนะนำจำกัดปริมาณของเหลวให้อยู่ที่ประมาณ ไม่เกิน 500 – 800 มิลลิลิตรต่อวัน โดยพิจารณาร่วมกับปริมาณปัสสาวะที่เหลืออยู่ น้ำหนักตัวของผู้ป่วย และภาวะสุขภาพขณะนั้น เช่น การเสียเหงื่อจากอากาศที่ร้อนหรือออกกำลังกาย ภาวะท้องเสียถ่ายเหลว สำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ควรควบคุมปริมาณน้ำที่บริโภคประมาณ 30 ถึง 35 มล./กก.น้ำหนักอุดมคติ/วัน โดยคำนึงถึงปริมาณปัสสาวะที่ยังเหลืออยู่ ปริมาณน้ำที่ดึงออกจากการล้างไตทางช่องท้อง และการบวมน้ำของผู้ป่วยร่วมด้วย

 

อาหารเสริมทางปาก (oral nutritional supplement; ONS)

    อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยฟอกเลือดหรือล้างไต สามารถเป็นทางเลือกช่วยตอบโจทย์ความต้องการทางโภชนาการของผู้ป่วย โดยช่วยให้ได้รับพลังงานต่อวันที่พอเพียงต่อโรคและความต้องการของร่างกาย ได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ โดยที่ไม่ต้องรับเกลือแร่ชนิดโพแทสเซียมหรือฟอสฟอรัสในปริมาณที่มากเกินไป และยังอาจช่วยลดภาระการเตรียมอาหารสำหรับผู้ดูแล โดยตามแนวทางปฏิบัติติแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับอาหารเสริมทางปากหรือทางสายให้อาหารก่อน เพื่อให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารดำเนินไปอย่างปกติ หากไม่เพียงพอจึงจะพิจารณาให้อาหารเสริมทางหลอดเลือดดำ ควรเลือกใช้อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนที่สามารถให้สารอาหารเพียงพอ โดยต้องคำนึงถึงวิตามินที่ไม่ละลายในน้ำและเกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสมซึ่งทำให้ไม่เกิดความผิดปกติต่อระดับเกลือแร่ได้ ทั้งนี้ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลทุกครั้งหากมีการรับประทานอาหารเสริมทางปาก เพื่อจะได้มีการประเมินและตรวจติดตามระดับเกลือแร่ในเลือดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

     ในผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร ให้รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ บ่อยๆ สามารถช่วยได้ หรือเลือกของว่างและเครื่องดื่มเป็นอาหารทางการแพทย์ เพื่อให้ได้รับพลังงานและปริมาณสารอาหารต่อวันที่ครบถ้วน ผู้ป่วยบางรายมีอาการคลื่นไส้และการรับรสชาติที่เปลี่ยนไป อาจทดลองเปลี่ยนเนื้อสัมผัสของอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยมักทนต่ออาหารเย็นได้ง่ายกว่าของร้อน อาจลองชงอาหารทางการแพทย์ในน้ำเย็น หรืออาจนำแช่แข็งแล้วรับประทานเหมือนไอศกรีมจะช่วยให้สามารถทานได้ดีขึ้น

ผู้เขียน

ผศ.นพ. ธนรรงามวิชชุกร

อายุรแพทย์โรคไต หน่วยโรคไต

ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 

                                                         

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Ikizler TA, Burrowes JD, Byham-Gray LD, Campbell KL, Carrero J-J, Chan W, et al. KDOQI clinical practice guideline for nutrition in CKD: 2020 update. American Journal of Kidney Diseases. 2020;76(3):S1-S107.
  2. Handu D, Rozga M, Steiber A. Executive Summary of the 2020 Academy of Nutrition and Dietetics and National Kidney Foundation Clinical Practice Guideline for Nutrition in CKD. Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics. 2021;121(9):1881-93.
  3. Chan W. Chronic kidney disease and nutrition support. Nutrition in Clinical Practice. 2021;36(2):312-30.
  4. Ikizler TA, Burrowes JD, Byham-Gray LD, Campbell KL, Carrero J-J, Chan W, et al. KDOQI clinical practice guideline for nutrition in CKD: 2020 update. American Journal of Kidney Diseases. 2020;76(3):S1-S107.
  5. Handu D, Rozga M, Steiber A. Executive Summary of the 2020 Academy of Nutrition and Dietetics and National Kidney Foundation Clinical Practice Guideline for Nutrition in CKD. Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics. 2021;121(9):1881-93.
  6. Chan W. Chronic kidney disease and nutrition support. Nutrition in Clinical Practice. 2021;36(2):312-30.
  7. สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดําและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561
  8. Satirapoj B, Limwannata P, Kleebchaiyaphum C, Prapakorn J, Yatinan U, Chotsriluecha S, et al. Nutritional status among peritoneal dialysis patients after oral supplement with ONCE dialyze formula. International Journal of Nephrology and Renovascular Disease. 2017:145-51.
  9. Limwannata P, Satirapoj B, Chotsriluecha S, Thimachai P, Supasyndh O. Effectiveness of renal-specific oral nutritional supplements compared with diet counseling in malnourished hemodialysis patients. International Urology and Nephrology. 2021;53:1675-87

                                                             PM-ODL-202408-007

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *