- โรคไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต คืออะไร?
โรคไตเสื่อมเรื้อรัง (chronic kidney disease) คือภาวะที่ไตทำงานลดลงโดยประเมินจากอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate, eGFR) มีค่าต่ำกว่า 60 มล./นาที/1.73 ตร.ม. หรือมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าไตมีภาวะผิดปกติ เช่น การมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ การมีเม็ดเลือดแดงปนในปัสสาวะ หรือมีเกลือแร่ผิดปกติที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดฝอยไต (renal tubule) โดยเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรังระยะต้น มักจะไม่มีอาการผิดปกติ มักจะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพการเจาะตรวจเลือด จนกระทั่งไตเสื่อมเข้าสู่ระยะท้ายจึงจะแสดงอาการ เช่น ซีด เหนื่อยเพลีย บวม ปัสสาวะออกลดลง เป็นต้น
- รู้หรือไม่? การรับประทานโปรตีนกับโรคไตเสื่อมเรื้อรังเป็นอย่างไร
โปรตีนเป็นส่วนสำคัญของร่างกายในการสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้ร่างกายอยู่ในสมดุลที่ปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังมีความสามารถในการขจัดของเสียที่เกิดจากการรับประทานโปรตีนลดลง ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อขจัดของเสียเหล่านี้ออกไปหากรับประทานโปรตีนในปริมาณที่เท่าเดิม ดังนั้นการรับประทานโปรตีนต่ำในผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไตจึงมีประโยชน์และพบข้อดีหลายประการ เช่น การลดความดันในหน่วยกรองของไต การลดระดับของโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ รวมถึงลดการสะสมยูเรียในเลือด1 ดังนั้นในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต จึงแนะนำให้รับประทานโปรตีนต่ำเพื่อชะลอการเสื่อมของไต2
ผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต โปรตีนที่เหมาะสมต่อวันเท่ากับ 0.6-0.8 กรัม/ต่อน้ำหนักตัว 1 กก./วัน
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่หนัก 60 กิโลกรัม จะต้องการโปรตีนเพียง 36-48 กรัมต่อวันเท่านั้น
โปรตีนจากสัตว์2
เนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา 30 กรัม = 2 ช้อนโต้ะ = โปรตีน 7 กรัม
ไข่ 1 ฟอง = โปรตีน 7 กรัม
นม โยเกิร์ต 250 มล. = โปรตีน 8-10 กรัม
ชีส 30 กรัม = โปรตีน 6-8 กรัม
โปรตีนจากพืช2
ถั่วต่างๆ เมล็ดพืช 100 กรัม = โปรตีน 7-10 กรัม
ธัญพืชไม่ขัดสี 100 กรัม = โปรตีน 3-6 กรัม
ผักที่มีแป้งต่ำ 100 กรัม = โปรตีน 2-4 กรัม
ขนมปัง 1 แผ่น 30 กรัม = โปรตีน 2-4 กรัม
- พลังงานเท่าไหร่? ที่เพียงพอในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต
พลังงานที่เพียงพอจากอาหารอยู่ที่ 25-35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน3 โดยขึ้นกับอายุ ภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย และระดับกิจกรรมของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ไม่มีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก ระดับพลังงานจะอยู่ที่ 25-30 กิโลแคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน แต่หากอายุน้อยกว่า 60 ปี ใช้พลังงานตามปกติ พิจารณาให้ระดับพลังงานอยู่ที่ 30-35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอายุ 55 ปี น้ำหนัก 60 กิโลกรัม เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ใช้พลังงานตามปกติ จะต้องการพลังงานต่อวันเท่ากับ 1800-2100 กิโลแคลอรี เป็นต้น การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอ จะสามารถรักษาระดับแอลบูมินในเลือดและรักษาสมดุลของส่วนประกอบของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ และยังช่วยทำให้ร่างกายนำโปรตีนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น4
- โรคไตเสื่อมเรื้อรังระยะก่อนล้างไตกับผักและผลไม้ ควรเลือกรับประทานอย่างไร?
โดยปกติแล้วในผักและผลไม้มักจะมีส่วนประกอบของโพแทสเซียมอยู่ บางชนิดมีมาก บางชนิดมีน้อย ขึ้นกับผักผลไม้ชนิดนั้น ๆ ผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต ถ้าหากไม่มีปัญหาโพแทสเซียมสูงในเลือด แนะนำให้รับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมในปริมาณที่ปกติเหมือนคนทั่วไปได้ เนื่องจากผักและผลไม้ช่วยรักษาสมดุลกรดด่างในร่างกาย มีเกลือแร่และวิตามิน แต่หากมีปัญหาโพแทสเซียมสูง แนะนำให้เลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำหรืองดเว้น เพื่อควบคุมระดับของโพแทสเซียมในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการรับประทานโพแทสเซียมต่ำคือไม่เกิน 1,500-2,000 มก.ต่อวัน5
ระดับโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง (100-200 มก.ต่อ 100 กรัม)6
ได้แก่ แครอท พริกหยวก พริกหวาน บวบ ถั่วแขก มะระ มะเขือยาว มะละกอดิบ กะหล่ำปลี หอมใหญ่ ผักกาดแก้ว ฟักแม้ว ฟักเขียว ผักกาดขาว ผักกาดหอม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน แครนเบอร์รี มังคุด ชมพู่ พุทรา ลองกอง องุ่นเขียว เงาะ แอปเปิล
ระดับโพแทสเซียมสูง (250-300 มก.ต่อ 100 กรัม)6
เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท แกนมะละกอ ผักโขม กระเจี๊ยบเขียว ผักหวาน ผักบุ้ง ข้าวโพดอ่อน ผักคะน้า ยอดคะน้า โหระพา ใบตำลึง ผักชีฝรั่ง ผักสลัด สะเดา ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง แตงกวา ไชเท้า มะเขือเทศสีดา หัวไชเท้า ก้านคะน้า กล้วย น้ำมะพร้าว กล้วยตาก ฝรั่ง ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า กระท้อน ลำไย ลูกพลับ ลูกพรุน ลูกเกด มะม่วง มะเฟือง มะปราง มะขามหวาน แคนตาลูป สับปะรด น้ำส้มคั้น
- รับประทานอย่างไร? ให้ชะลอไตเสื่อมและร่างกายแข็งแรง
ให้ยึดหลัก “ครบถ้วน ไม่เค็ม ไม่แปรรูป โปรตีนต่ำ”
“ครบถ้วน” คือ การรับประทานอาหารให้ได้พลังงานที่ครบถ้วน เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยจนเกินไป เพราะหากมากจนเกินไปจะเกิดภาวะอ้วน ไขมันสะสม แต่ถ้าน้อยจนเกินไปจะเกิดภาวะขาดแคลนสารอาหารและพลังงาน
“ไม่เค็ม” คือ การรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก.ต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ เกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาหรือซีอิ๊ว 5 ช้อนชา หรือผงปรุงรส 2 ช้อนชา การรับประทานโซเดียมต่ำ สามารถช่วยลดความดันโลหิตและโปรตีนที่รั่วทางปัสสาวะ สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้
“ไม่แปรรูป” อาหารแปรรูป คืออาหารสดที่ผ่านกระบวนการปรุงรส แต่งกลิ่น ฆ่าจุลินทรีย์ ปรับเปลี่ยนรูปร่างหรือบรรจุหีบห่อ เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น อร่อยขึ้นหรือสะดวกในการเก็บมากขึ้น โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่มีการแปรรูปสูง (ultra-processed food) คือผ่านกระการแปรรูปหลายขั้นตอน อาหารกลุ่มนี้นอกจากจะใส่ โซเดียม ไขมัน น้ำตาลเข้าไปแล้ว ยังอาจใส่สารเติมแต่งเข้าไปด้วย เช่น สีผสมอาหาร สารแต่งกลิ่น สารคงรูปและยืดอายุอาหาร ตัวอย่างอาหารที่แปรรูปสูงได้แก่ เครื่องดื่มอัดลม ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต ลูกอม ไอศกรีม ขนมปัง คุกกี้ เค้ก ไส้กรอก กุนเชียง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟูดตะวันตก เป็นต้น
“โปรตีนต่ำ” การรับประทานโปรตีนต่ำในปริมาณ 0.6-0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน โดยสามารถเลือกได้ทั้งโปรตีนจากพืชและจากสัตว์ตามความเหมาะสม
สุดท้ายผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนฟอกไต ไม่ควรซื้อสมุนไพรหรือวิตามินบำรุง รวมถึงยาแก้ปวดต้านอักเสบรับประทานเอง เนื่องจากส่งผลให้ไตทำงานแย่ลงอย่างฉับพลันได้
- ถ้ารับประทานได้ไม่เพียงพอ ควรทำอย่างไร?
หากไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอหรือมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ควรพิจารณาเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะก่อนล้างไตที่มีโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังก่อนระยะล้างไต ซึ่งต้องการพลังงานสูงแต่โปรตีนต่ำ เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของไต โดยที่โปรตีนควรมีแหล่งที่มาจากทั้งสัตว์เช่น เคซีน และจากพืช เช่น โปรตีนถั่วเหลืองไอโซเลท คาร์โบไฮเดรตควรมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อีกทั้งควรมีส่วนประกอบของใยอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย รวมถึงกรดไขมันจำเป็นและน้ำมันเอ็มซีทีที่สามารถถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที และควรเลือกอาหารทางการแพทย์ชนิดผงสำหรับชงดื่ม เนื่องจากปรับปริมาณได้ตามที่ผู้ป่วยต้องการและเก็บไว้ได้นาน
การเลือกอาหารเสริมโภชนาการจึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนและสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล
ผู้เขียน
พญ.รุ่งทิวา กิจเพิ่มเกียรติ
อายุรแพทย์สาขาโรคไต
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
เอกสารอ้างอิง
- Kalantar-Zadeh K, Fouque D. Nutritional Management of Chronic Kidney Disease. N Engl J Med. 2017;377(18):1765-76.
- Kidney Disease: Improving Global Outcomes CKDWG. KDIGO 2024 Clinical Practice Guideline for the Evaluation and Management of Chronic Kidney Disease. Kidney Int. 2024;105(4S):S117-S314.
- Ikizler TA, Burrowes JD, Byham-Gray LD, Campbell KL, Carrero JJ, Chan W, et al. KDOQI Clinical Practice Guideline for Nutrition in CKD: 2020 Update. Am J Kidney Dis. 2020;76(3 Suppl 1):S1-S107.
- Ikizler TA, Cano NJ, Franch H, Fouque D, Himmelfarb J, Kalantar-Zadeh K, et al. Prevention and treatment of protein energy wasting in chronic kidney disease patients: a consensus statement by the International Society of Renal Nutrition and Metabolism. Kidney Int. 2013;84(6):1096-107.
- Cano N, Fiaccadori E, Tesinsky P, Toigo G, Druml W, Dgem, et al. ESPEN Guidelines on Enteral Nutrition: Adult renal failure. Clin Nutr. 2006;25(2):295-310.
- สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2565 (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ศรีเมืองการพิมพ์; 2565.
PM-ORN-202411-005