สมัครสมาชิก
Otsuka Official Store
Otsuka Official Store

มะเร็ง ผอมไปไม่ดีนะ

การศึกษาทั่วโลกหลายๆการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 20-70% มีภาวะทุพโภชนาการ และผู้ป่วยมะเร็ง 10-20% เสียชีวิตจากผลของภาวะทุพโภชนาการมากกว่าที่จะเสียชีวิตจากตัวเนื้องอกเอง ภาวะทุพโภชนาการคือ ภาวะที่ร่างกายที่ได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณและสารอาหาร ภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งนั้นส่งผลเสียต่อการตอบสนองต่อการรักษา เกิดผลข้างเคียงจากการรักษามากขึ้น การรักษาไม่ต่อเนื่อง นอนโรงพยาบาลนานขึ้น สภาวะร่างกายแย่ลง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง คุณภาพชีวิตต่ำลง และท้ายที่สุดก็ส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิต นอกจากนี้ภาวะทุพโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยงทุพโภชนาการ

            ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเช่น คลื่นไส้หรือท้องเสีย กลืนลำบาก อึดอัดแน่นท้อง การรับกลิ่นและรสที่เปลี่ยนไป เบื่ออาหาร ผลข้างเคียงจากยา ความเครียดทางจิตใจ และความเจ็บปวด ล้วนทำให้ผู้ป่วยมะเร็งรับประทานอาหารได้น้อยลงและส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งก็จะนำไปสู่ระบบภูมิคุ้มกันที่แย่ลงและกล้ามเนื้อก็ลดลงอีกด้วย นอกจากนี้ตัวมะเร็งเองก็จะหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆเช่น มีการเพิ่มการใช้พลังงาน มีการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมากขึ้น และมีการสลายไขมันอีกด้วย

กินดีเติมสารอาหารให้ร่างกาย

           สำหรับผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ก็อาจมีความท้าทายนิดหนึ่งที่จะกินให้ดีและได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ การหาทางที่จะรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณกินดีในขณะที่รักษามะเร็งอาจจะช่วยคุณในหลายๆด้าน ดังต่อไปนี้

  • ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น
  • รักษาความแข็งแรงและการมีพละกำลังของคุณ
  • คงน้ำหนักตัวและสะสมสารอาหารในร่างกายของคุณ
  • ทนต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา
  • ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หายและฟื้นตัวเร็วขึ้น

กินดีหมายถึงกินอาหารหลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ การเลือกอาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง  อาจเป็นคำตอบอย่างหนึ่งของคำว่า กินดี เพราะมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน

แต่ละคนต้องการอาหารต่างกัน

            เนื่องจากคนทุกคนมีความแตกต่าง คุณอาจมีปัญหาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่คุณเป็น มะเร็งอยู่ตรงไหนของร่างกายคุณ คุณได้รับการรักษาแบบใด ระยะเวลาในการรักษานานเท่าไร และความเข้มข้นหรือโดส ของการรักษาที่คุณได้รับ ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการโปรตีนและแคลอรีมากเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว ในบางครั้งอาหารของคุณอาจต้องเพิ่มเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และโปรตีนจากพืช บางคนที่มีแผลในปากและคอทำให้กินอะไรลำบากก็อาจเลือกเป็นอาหารข้นๆและเย็นหน่อย เช่น ไอศกรีมหรือนมปั่น หรือในบางคนอาจต้องกินอาหารที่มีกากใยต่ำแทนอาหารที่มีกากใยสูง แนะนำให้ปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อช่วยวางแผนการรับประทานอาหารของคุณ

อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มักใช้เพื่อเสริมพลังงาน โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และ/หรือใยอาหาร รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุ คุณทราบอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมะเร็งต้องการโปรตีนสูงเพื่อรักษาและเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อจากที่อ่านมาข้างต้น ซึ่งมีการศึกษาค้นคว้าทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับอาหารทางการแพทย์ที่โปรตีนสูง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งได้รับพลังงานและโปรตีนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 

 

ผู้เขียน

นัฏฐิกา สงเอียด

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

 

แหล่งอ้างอิง :

  1. ESPEN practical guideline: Clinical Nutrition in cancer. Clin Nutr. 2021 May;40(5):2898-2913.
  2. Prevalence and risk factors of malnutrition among adult cancer patients receiving chemotherapy treatment in cancer center, Ethiopia: cross-sectional study. Heliyon. 2021 Jun 21;7(6): e07362.
  3. National Cancer Institute. Eating Hints: Before, during, and after Cancer Treatment. NIH Publication No. 22-7157 Dec 2022.

 

###